บทความที่น่าสนใจ

การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าผ่านกล้องแนวใหม่ โดยใช้เอ็นมาทดแทนสองเส้น

การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าผ่านกล้องแนวใหม่ โดยใช้เอ็นมาทดแทนสองเส้น (Arthroscopic Double Bundle Anterior Cruciate Ligament Reconstruction)

เอ็นไขว้หน้า (ACL) เป็นเอ็นที่อยู่ในข้อเข่า มีหน้าที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนตัวของกระดูกหน้าแข้งไปข้างหน้ามากกว่าปกติ (Anterior Tibial Translation) และป้องกันไม่ให้เกิดการหมุนของข้อเข่า ดังนั้นถ้าเอ็นไขว้หน้าขาดจะทำให้เกิดภาวะเข่าไม่มั่นคง (Knee instability) ส่วนใหญ่แล้วมักพบการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าจากการเล่นกีฬา ผู้ป่วยที่มีอายุน้อย มีความจำเป็นที่ต้องทำงานหนักหรือเล่นกีฬา ควรได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดนำเส้นเอ็นส่วนอื่นของร่างกายที่มีความสำคัญน้อย มาทดแทนเอ็นไขว้หน้าที่ขาดไป

ปัจจุบันการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าผ่านกล้องมีหลายวิธี และมีการพัฒนาวิธีการผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะทดแทนตำแหน่งและเลียนแบบหน้าที่และการทำงานของเอ็นไขว้หน้าให้ได้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด (Anatomic ACL-R)

การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าผ่านกล้องโดยใช้เอ็นมาทดแทนสองเส้น (Arthroscopic double bundle ACL-R) เป็นวิธีการผ่าตัดแนวใหม่ที่เลียนแบบธรรมชาติมากที่สุด ให้ผลการรักษาที่ดีเยี่ยม และผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานหนักหรือเล่นกีฬาได้ใกล้เคียงระดับเดิม

การผ่าตัดส่องกล้องในข้อ (Arthroscopic Surgery)

การผ่าตัดส่องกล้องในข้อ (Arthroscopic Surgery) คืออะไร?

คือการผ่าตัดแนวใหม่โดยใช้กล้องวีดีโอขนาดเล็กสอดเข้าไปในข้อและต่อสัญญาณเข้ากับจอภาพทีวี ทำให้เห็นส่วนต่างๆ ภายในข้อได้อย่างชัดเจนทางจอภาพทีวี อีกทั้งยังมีการพัฒนาเครื่องมือซึ่งมีขนาดเพียง 0.5 เซนติเมตรอีกหลายชนิด เพื่อใช้ในการรักษาความผิดปกติภายในข้อ

ดังนั้นการผ่าตัดส่องกล้องในข้อจึงเป็นการผ่าตัดแนวใหม่ที่สามารถทำในข้อต่างๆ เช่น ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อศอกได้ เห็นความผิดปกติภายในข้อได้ชัดเจนกว่าผ่าตัดแบบเปิดข้อแบบเดิม ขณะเดียวกันสามารถทำการรักษาได้ดีโดยที่ผู้ป่วยจะมีบาดแผลขนาดเล็กที่เกิดจากการใส่กล้องและเครื่องเมือผ่าตัดขนาด 0.5 เซนติเมตร เพียง 1-2 แผล ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดจะน้อย ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลจะสั้น การพักฟื้นและการทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดจะง่ายและได้ผลดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิมมาก

ใช้รักษาความผิดปกติแบบใดบ้าง?

ข้อเข่าบาดเจ็บจากการกีฬา (Sports injury)  เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในหนุ่มสาว การบาดเจ็บและฉีกขาดของเส้นเอ็นไขว้หน้า เส้นเอ็นไขว้หลัง หมอนรองกระดูกหรือการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถซ่อมแซมแก้ไขหรือสร้างขึ้นมาใหม่ได้โดยการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มาตรฐานแล้วได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อย ใช้เวลาพักตัวสั้น และสามารถกลับไปประกอบกิจกรรมที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) การผ่าตัดส่องกล้องช่วยทำไห้อาการดีขึ้นได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมในระยะเริ่มต้นและปานกลาง โดยการกำจัดเศษกระดูกผิวข้อที่เสื่อมสภาพ การกำจัดเศษหินปูนที่หลุดลอยอยู่ในข้อ ตลอดจนการกระตุ้นการงอกใหม่ของกระดูกอ่อนผิวข้อ หากภาวะความเสื่อมของข้อเข่ามีมากถึงระดับหนึ่งแล้ว อาจจะต้องพิจารณาวิธีอื่นๆ เช่น การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแนวขา หรือการผ่าตัดข้อเทียม เป็นต้น

ข้อไหล่ไม่มั่นคง (shoulder instability) การผ่าตัดส่องกล้องสามารถซ่อมแซมเส้นเอ็นในข้อไหล่ที่ฉีกขาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดค่อนข้างง่ายและลดโอกาสการเกิดข้อไหล่ติดซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของการผ่าตัดแบบเดิมได้เป็นอย่างดี

เอ็นหมุนข้อไหล่อักเสบ-ฉีกขาด มีหินปูนเกาะในเส้นเอ็น การผ่าตัดส่องกล้องสามารถมองเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างละเอียด สามารถกรอหินปูนที่เป็นสาเหตุให้เจ็บปวดหรือทำไห้เส้นเอ็นฉีกขาดออกได้ โดยไม่ทำอันตรายต่อกล้ามเนื้อข้างเคียงทำไห้สามารถใช้ข้อไหล่ได้ทันทีหลังผ่าตัด

ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องในข้อมีอะไรบ้าง?

  • เนื่องจากกล้องวีดีโอที่ใช้มีประสิทธิภาพและกำลังขยายสูง ดังนั้นภาพที่เกิดขึ้นจะทำไห้แพทย์เห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจนจึงนํามาเป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง
  • การผ่าตัดบางอย่างจะทำได้ดีด้วยการผ่าตัดส่องกล้องในข้อ ขณะที่การผ่าตัดแบบเปิดข้อแบบเดิมไม่สามารถทำได้ เช่น การผ่าตัดเพื่อตัดหรือเย็บซ่อมหมอนรองกระดูกข้อเข่า การกำจัดเศษหินปูนที่หลุดลอยอยู่ในข้อเข่า เป็นต้น
  • บาดแผลขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเดิมมาก ทำไห้แผลสวยกว่า แต่เหตุผลสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่า เนื่องจากมีการทำลายเนื้อเยื่อน้อย ใช้ระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาลน้อยกว่าเดิม การ ทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดง่ายกว่า และใช้เวลาพักฟื้นสั้นสามารถกลับไปประกอบอาชีพการงานได้เร็วขึ้น 

ข้อเสียของการผ่าตัดส่องกล้องในข้อมีอะไรบ้าง?

  • เนื่องจากการผ่าตัดส่องกล้องในข้อมีความจําเป็นต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือในการผ่าตัดเฉพาะที่มีราคาสูจึงเป็นข้อจํากัดในการใช้อย่างแพร่หลายเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด
  • การผ่าตัดส่องกล้องในข้อเป็นการผ่าตัดที่ต้องใช้ทักษะและเวลาในการเรียนรู้มากกว่าการผ่าตัดแบบเปิด

น.พ. ฮาร์ยิต ซิงห์ บัดติยา