- บริการตรวจรักษาโรคภูมิแพ้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน และทีมงานที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยภูมิแพ้ โรคหอบหืด และโรคที่สัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
- บริการให้คำปรึกษาเพื่อการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องในการป้องกันการเกิดโรค การลดสิ่งก่อกระตุ้นภูมิแพ้ การปฏิบัติขณะเกิดอาการ และการควบคุมโรค ผู้ป่วยจะได้รับความรู้ คำปรึกษา และตอบข้อสงสัยจนเป็นที่พอใจ และร่วมกันวางแผนรักษากับแพทย์เพื่อให้เหมาะสมและได้ผลดีที่สุด
การทดสอบภูมิแพ้และการรักษาโรคภูมิแพ้ (Allergic Test and Treatment)
เมื่อไรจึงจะต้องทดสอบภูมิแพ้?
- เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้เช่น หอบหืด แพ้อากาศ เป็นหวัดง่ายหายยาก แพ้อาหารทุกชนิด แพ้ยา หรือมีผื่นคัน
- เพื่อให้ทราบว่าแพ้อะไร จะได้หลีกเลี่ยงสารนั้นๆ
- เพื่อนำสารนั้นๆ มาทำวัคซีนภูมิแพ้
ก่อนมาทดสอบภูมิแพ้ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
- ควรงดยาแก้แพ้ แก้คัน ยาลดน้ำมูก ยาเสริมภูมิ ยารักษาภูมิแพ้ และยาต้านโรคซึมเศร้าบางตัว 7 วันก่อนมาตรวจ
- ควรเป็นช่วงที่หายจากอาการหอบหืด ไม่มีไข้ หรือผื่นทั่วตัว และอาการป่วยหนักอื่นๆ ประมาณ 7 วัน
- ควรใส่เสื้อที่พับแขนเสื้อได้หรือเป็นเสื้อแขนสั้น
- ควรมีอายุมากกว่า 2 ปี (หากมีอาการแพ้มากอาจทดสอบก่อนอายุ 2 ปีได้)
แบ่งการทดสอบเป็น 2 วิธีใหญ่ๆ คือ
1. การทดสอบในร่างกาย (INVIVO TEST) เป็นการนำสารมาทดสอบกับร่างกายเรา แบ่งย่อยๆ ได้ดังนี้
- ทดสอบทางผิวหนัง (Skin Test) จากการศึกษาจำนวนมากสรุปได้ว่าวิธีสะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test) จะสัมพันธ์กับสารก่อภูมิแพ้และอาการป่วยดีกว่าวิธีอื่นๆ ใช้เวลาเพียง 15-30 นาที สามารถทำได้ครั้งละหลายชนิด ราคาไม่แพง (ประมาณ 1600 บาท/12สาร/ครั้ง)
- ทดสอบโดยการท้าทาย (Challenge Test) เป็นการนำสารมาในปริมาณเพียงเล็กน้อยตามที่คำนวณได้มาทดสอบโดยการรับประทาน ฉีด หรือทา แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณ แต่จะต้องทำในโรงพยาบาลและมีผู้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
2. ทดสอบนอกร่างกาย (IN VITRO TEST) เช่น การเจาะเลือดไปตรวจ ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถหยุดยาได้แต่ราคาแพงมาก ใช้เวลานาน เสียเลือด เจ็บตัวมาก ส่วนผลไม่ไวเท่าวิธีแรก
มีวิธีการรักษาโรคภูมิแพ้อย่างไรบ้าง?
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
- หากยังมีอาการต้องใช้ยา/วัคซีนภูมิแพ้ช่วยในการรักษา
ควรจะฉีดวัคซีนโรคภูมิแพ้เมื่อไร?
- เมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วอาการไม่ดีขึ้น ดีขึ้นไม่มาก หรืออาการทรุดหนัก หรือมีอาการร่วมหลายระบบเช่น หอบหืดและแพ้อากาศ
- ต้องการสร้างภูมิด้วยตัวเองและเปลี่ยนแปลงการดำเนินโรคได้
- ไม่อยากใช้ยาหลายตัวหรือใช้ยานานๆ
มีวิธีการฉีดยาภูมิแพ้อย่างไร?
เริ่มฉีดจากการเตรียมสารก่อภูมิแพ้ชนิดเจือจางมากๆ ฉีดให้ผู้ป่วยครั้งละน้อยๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นและปริมาณขึ้นจนถึงระดับที่ต้องการ ในช่วงแรกจะฉีดทุกสัปดาห์ เมื่อถึงระดับที่ต้องการแล้วจะฉีดห่างขึ้นๆ เป็นเดือนละครั้ง
ต้องฉีดนานเท่าไร? ได้ผลดีหรือไม่?
นับตั้งแต่เริ่มฉีดไปประมาณ 6-12 เดือน วัคซีนภูมิแพ้ก็จะออกฤทธิ์เต็มที่ซึ่งได้ผลประมาณ 70-90% ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและสามารถลดยาได้ ในบางรายอาจหยุดยาได้หมด
ค่าใช้จ่ายสูงหรือไม่?
หากมองระยะยาวแล้วราคาวัคซีนจะถูกมาก (ประมาณ 1500 บาท/ขวด) 1 ขวดฉีดได้ 10 ครั้ง นั่นคือเดือนละ 150 บาท (ไม่รวมค่าแพทย์และค่าบริการอื่นๆ) แต่ในระยะแรกจะต้องเปลี่ยนขวดตามความเข้มข้นของวัคซีนที่เพิ่มขึ้น 5 ครั้ง/ขวด
ต้องเตรียมตัวอย่างไรในการฉีดวัคซีนภูมิแพ้?
- หากไม่สบาย หอบหืดกำเริบ อดนอน เพลียมาก ป่วยหนัก ควรแจ้งแพทย์ก่อนฉีด เพื่อแพทย์จะพิจารณางดการฉีด ฉีดเท่าเดิม หรือเพิ่มความเข้มข้น
- หลังฉีด ควรนั่งพักรอสังเกตอาการประมาณ 30 นาที
- ไม่ควรออกกำลังกายภายใน 2 ชั่วโมงหลังฉีด
ผลข้างเคียงของวัคซีนภูมิแพ้มีอะไรบ้าง?
โดยทั่วไปจะมีอาการเจ็บๆ คันๆ เป็นเม็ดคล้ายๆ ลมพิษเล็กๆ บริเวณที่ฉีด แต่ในบางรายหากป่วยหนัก พักผ่อนน้อย หรือมีอาการหอบหืดอยู่ อาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงขึ้นเช่น ลมพิษทั้งตัว บวมในคอ หายใจดังหวี๊ด เป็นลมหรือช๊อค ซึ่งพบได้น้อยมาก (ในประสบการณ์ของผู้เขียนไม่เคยพบเลย เนื่องจากทำการตรวจร่างกายของผู้ป่วยก่อนฉีดวัคซีนภูมิแพ้ก่อนทุกครั้ง)
ท่านที่มีความประสงค์เข้ารับบริการสามารถติดต่อและรับบริการที่คลินิกโรคภูมิแพ้ได้ทุกวันอาทิตย์-วันศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น.
อนุเคราะห์ข้อมูลโดย นพ. วิชาญ บุญสวรรค์ส่ง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน