รากฟันเทียมคืออะไร เชื่อถือได้แค่ไหน

โดย ศาสตราจารย์คลินิก ทันตแพทย์หญิง สุภา โรจนวุฒนนท์
BSc., D.D.S., F.R.C.D.T., Dip.in Oral & Maxillofacial Surger
ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมช่องปากและกระดูกใบหน้า โรงพยาบาลมิชชั่น

รากฟันเทียม คือ รากฟันที่บูรณะขึ้นทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญหายไป ซึ่งเมื่อรอให้ยึดติดกับกระดูกดีแล้ว สามารถต่อยอดขึ้นมาเป็นฟันเทียมที่สวยงามเหมือนธรรมชาติ มีประสิทธิภาพใช้งานได้ใกล้เคียงกับฟันเดิม การบูรณะด้วยรากฟันเทียมมีมาร่วม 50 ปี ได้วิจัยพัฒนาทั้งวัสดุ พื้นผิว รูปทรง มาโดยลำดับ ปัจจุบันรากเทียมที่ใช้ได้ผลดีผลิตจากโลหะไททาเนียมบริสุทธิ์ ทำขนาดใกล้เคียงรากฟันธรรมชาติ เป็นรูปทรงกลม เกลียวสกรู มีการเพิ่มคุณสมบัติของพื้นผิวสัมผัสและองศาความถี่ห่างของเกลียวสกรู ให้สามารถเกิดการยึดติดกับกระดูกได้รวดเร็วมั่นคง ยึดโยงเป็นโครงสร้างที่ถาวร สามารถรองรับฟันปลอมทั้งแบบเฉพาะซี่เดียวหรือแบบสะพานฟัน

รากฟันเทียมนี้สามารถรองรับและกระจายแรงจากการบดเคี้ยวตามฐานกระดูกที่รองรับได้เกือบเหมือนฟันธรรมชาติ กระดูกส่วนนั้นจึงสามารถคงรูปไม่ยุบสลายตัวลงเหมือนกระดูกที่ฟันถูกถอนไปแล้วแต่อย่างใด

การบูรณะด้วยรากฟันเทียมเป็นวิทยาการปัจจุบันที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะกรณีบูรณะฟันหน้า ซึ่งต้องการความสวยงาม แนบเนียน เหมือนฟันธรรมชาติ และไม่เป็นภาระให้ต้องถอดเข้าออกทุกวันอย่างฟันปลอมพลาสติก ไม่ต้องอาศัยยึดโยงกับฟันข้างเคียง และไม่เป็นปัญหาในการพูดออกเสียงพยัญชนะสระใดๆ ผู้ป่วยที่ใส่ฟันปลอมทั้งปากแบบถอดได้ก็อาจใช้รากฟันเทียมเพียง 2 ตำแหน่ง ก็จะช่วยลดการลื่นไถลของฟันปลอมช่วยให้ฟันปลอมยึดติดกับกระดูกขากรรไกรได้ดีขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพของการบดเคี้ยวได้ โดยที่การบูรณะด้วยรากฟันเทียมต้องอาศัยการยึดติดระหว่างรากฟันเทียมและกระดูกของผู้ป่วย ฉะนั้นผู้ป่วยที่จะใส่รากฟันเทียมควรต้องมีสุขภาพร่างกายดี ไม่มีข้อจำกัดในการใช้ยาชาและการทำผ่าตัดภายในช่องปาก ผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือดไม่แข็งตัว โรคกระดูกพรุน โรคติดเชื้อ กระดูกสูญเสียคุณภาพ เนื่องจากเคยรับการฉายรังสีรักษามะเร็ง ล้วนไม่เหมาะที่จะบูรณะด้วยรากฟันเทียม

ถ้าต้องการใส่รากฟันเทียม ต้องเตรียมตัวอย่างไร

  • เตรียมสุขภาพร่างกายให้ดี ถ้ามีโรคทางระบบใดควรควบคุมได้ในระดับปกติ ช่องปากสะอาดไม่มีการอักเสบหรือติดเชื้อใดๆ
  • เตรียมค่าใช้จ่าย เพราะค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับการใส่ฟันแบบอื่นๆ เนื่องจากวัสดุมีราคาแพงและส่วนครอบฟันต้องใช้โลหะมีค่าสูง
  • การเริ่มต้นวางแผนการรักษาอย่างรอบคอบและดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี จะช่วยให้ได้รากฟันเทียมที่ดี และสามารถใช้งานได้ยาวนานจนถึงชั่วชีวิต

ขั้นตอนการใส่รากฟันเทียม

การจะใส่รากฟันเทียมให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและคงทนถาวร ควรต้องมีการวางแผนศึกษาปัญหาต่างๆ ให้รอบคอบก่อน ดูขนาดของช่องว่างที่จะใส่รากฟันเทียม คำนวณขนาด จำนวนรากเทียมที่จำเป็นต้องใช้ ศึกษาภาวะการสบฟัน การสึกของฟัน แรงบดเคี้ยวธรรมชาติ นิสัยการรับประทานอาหาร ความใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย ทั้งนี้เพื่อทำการป้องกันลดปัญหาต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ก่อน

ขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

  1. ตรวจประเมินทั่วไป
  2. พิมพ์ปาก จำลองแบบพิมพ์ฟัน เพื่อศึกษาวางแผนก่อนดำเนินการ
  3. นัดทำผ่าตัดฝังรากเทียมภายใต้ยาชาเฉพาะที่ กรณีใส่รากฟันเทียมเพียง 1 หรือหลายซี่ที่ไม่ยุ่งยาก ทำในคลินิกทำฟันทั่วไปได้
  4. รอเวลาให้เกิดการเชื่อมยึดของกระดูกและโลหะรากฟันเทียมประมาณ 3-12 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของรากฟันเทียม คุณภาพของกระดูก และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ระหว่างรอเวลา ทันตแพทย์อาจใส่ฟันปลอมชั่วคราวให้ โดยเฉพาะกรณีฟันหน้า หรือให้ใช้ฟันปลอมที่มีอยู่เดิมต่อเนื่องไปก่อนโดยปรับแต่งให้เหมาะสม
  5. เมื่อได้เวลาที่เหมาะสม x-ray ตรวจดูและพิมพ์ปากแบบรากฟันเทียม เพื่อส่งทำส่วนครอบฟัน ขั้นตอนนี้ไม่ต้องฉีดยาอีก และไม่มีการเจ็บปวด
  6. ใส่ครอบฟัน ตรวจการทำงานและแนะนำการใช้งาน
  7. ติดตาม ตรวจเช็คและดูอาการ 6-12 เดือน

เมื่อใส่รากฟันเทียมแล้ว ต้องดูแลรักษาเป็นพิเศษอย่างไร

ดูแลรักษาเหมือนฟันธรรมชาติที่มีอยู่ เพราะแม้ว่ารากฟันเทียมจะไม่มีปัญหาเรื่องฟันผุ ถ้าต้องรับแรงมากเกินไป เนื้อเยื่อโดยรอบรากเทียมอันได้แก่ กระดูกและเหงือก มีการอักเสบเรื้อรัง รากฟันเทียมก็จะโยกและหลุดได้ จึงแนะนำให้ตรวจสุขภาพช่องปากกับทันตแพทย์ทุก 6-12 เดือน ให้การเอาใจใส่ในการดูแลรักษา รับประทานอาหารอย่างปกติ ไม่ใช้งานเกินสมควร รักษาช่องปากให้สะอาดและมีสุขภาพดีเป็นหัวใจสำคัญที่จะรักษารากฟันเทียมให้คงอยู่ได้ตลอดไป

การจัดฟันแบบ Damon Technique

Damon

การปลูกรากเทียมเพื่อรองรับฟันปลอมทั้งปาก

Copy of 1 resize resize

เครื่องมือกันกรน

Copy of เครองมอกนกรน resize resize