บทความที่น่าสนใจ

มะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัจจุบันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้เพิ่มมากขึ้นโดยพบเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งทั้งหมดที่เกิดในเพศชาย และเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งที่เกิดในเพศหญิง โดยเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นอันดับที่ 1 ของโรคมะเร็งทั้งเพศชายและหญิง ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคทั้งในเพศชายและเพศหญิงยังไม่ทราบแน่ชัดแต่มักพบได้มากขึ้นในผู้ป่วยที่มีประวัติดังนี้

  1. มีประวัติติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ทั้งของคนในครอบครัวหรือของผู้ป่วยเอง
  2. มีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว
  3. มีประวัติโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ได้แก่ Ulcerative colitis, Crohn’s disease
  4. มีประวัติสูบบุหรี่, ดื่มสุรา เป็นประจำ
  5. ส่วนปัจจัยทางด้านอาหารและสุขภาพทั่วไปเชื่อว่าการกินเนื้อสัตว์ปิ้งย่างเป็นประจำ, ออกกำลังกายน้อย, หรือผู้ที่มีน้ำหนักมาก ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น

ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกมักไม่มีอาการผิดปรกติ แต่เมื่อโรคเป็นมากขึ้นอาจมีความผิดปรกติได้ดังนี้ เช่น ลักษณะของการขับถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลง ทั้งความถี่ของการอุจจาระ, ลักษณะอุจจาระก้อนเล็กลงหรือมีมูกเลือดปน, การเบ่งถ่ายอุจจาระผิดปรกติคือต้องเบ่งเพิ่มมากขึ้นและรู้สึกอุจจาระไม่หมด, คลำได้ก้อนในท้อง, เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรืออ่อนเพลียไม่มีแรง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ตั้งแต่ยังไม่มีอาการผิดปรกติใดๆ โดยวิธีการตรวจที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบันคือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เพราะสามารถตรวจพบติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ได้ดีกว่าวิธีการอื่นๆ และสามารถทำการตัดชิ้นเนื้อได้เลยเมื่อตรวจพบ ผู้ป่วยที่ควรได้รับการส่องกล้องได้แก่

  1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ แต่มีอายุมากกว่า 50 ปี แต่ถ้ามีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ควรรับการตรวจเร็วขึ้นที่อายุ 40 ปี หรือน้อยกว่าก็ได้
  2. ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น
  3. ผู้ป่วยที่มีอาการขับถ่ายผิดปรกติไปจากเดิม หรือมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ในปัจจุบันเป็นวิธีป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดีที่สุดสามารถทำได้ง่ายขึ้น, มีความปลอดภัยสูงและไม่เจ็บ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่จะรับการส่องกล้องจำเป็นต้องกินอาหารที่มีกากใยน้อยร่วมกับกินยาล้างลำไส้ซึ่งสามารถเตรียมตัวมาจากที่บ้านหรือมาเตรียมที่โรงพยาบาลแบบผู้ป่วยนอกก็ได้

ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างมาก สามารถเพิ่มอัตราการหายขาดได้สูงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ถ้าตรวจพบได้เร็ว ดังนั้นทุกๆ คนควรได้รับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ตามข้อบ่งชี้ดังที่กล่าวมาข้างต้น และถึงแม้ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้วก็ตาม ควรรับการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อได้รับการตรวจรักษาอย่างถูกวิธี

Dr Chanjiroj resizeขอขอบคุณข้อมูลโดย
นายแพทย์ชาญจิโรจน์ กาญจนศิลป์ 
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ประจำโรงพยาบาลมิชชั่น

ความรู้และการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ พบโรคมะเร็งลำไส้สูงขึ้น โดยปี พ.ศ. 2540 มีประมาณการว่าสหรัฐเอมริกาพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 131,200 ราย (มะเร็งลำไส้ใหญ่ 94,100 ราย มะเร็งทวารหนัก 37,100 ราย) และผู้ป่วยเสียชีวิต 54,900 ราย (มะเร็งลำไส้ใหญ่ 46,600 ราย มะเร็งทวารหนัก 8,300 ราย ) และในปี พ.ศ. 2545 อัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมดในเพศชายและเพศหญิง

ในประเทศไทย การเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น พบทั้งในเพศชายและเพศหญิง ตามการพัฒนาของสังคมและเศรษฐกิจ ประชาชนมวิถีชีวิตที่เร่งรีบและมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบประเทศตะวันตก จกาสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2543 พบมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในเพศชายเป็นอันดับ 4 และ 3 ในเพศหญิง อันดับ 6 และ 3 ตามลำดับ และพบมากในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้นอุบัติการณ์ก็มากขึ้นด้วย

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

เกิดจากการแบ่งตัวและมีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์เยื่อบุผิว (Epithelial cell) ภายในลำไส้ใหญ่เกิดเป็นก้อนที่ขนาดผิดปกติแล้วกลายเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรง

ตำแหน่งที่พบบ่อยคือ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Rectum) 20-25% ที่ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น (Cucum) 15% ที่ลำไส้ด้านขวาและลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย (Ascending colon, Descending coin) ประมาณ 6-8%

มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่ก้อนโตเร็วและก่อให้เกิดอาการจากก้อนมะเร็งที่โตขึ้นไปกดเบียดอวัยวะใกล้เคียงหรือลำไส้ใหญ่อุดตัน และการลุกลามของมะเร็งไปทำลายเนื้อเยื่อปกติและหลอดเลือดเกิดเป็นแผลและสูญเสียเลือด เมื่อมะเร็งลุกลามทำให้เกิดการแตกทะลุของลำไส้ใหญ่ และแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกล โดยผ่านทางระบบน้ำเหลืองระบบการไหลเวียนเลือด ซึ่งมักแพร่กระจายไปที่ตับ ปอด และกระดูกเป็นส่วนใหญ่

สาเหตุ

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ทั้งนี้พบว่ามียีนเป็นตัวควบคุมให้เซลล์ธรรมดาเปลี่ยนเป็นเซลมะเร็ง และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่

  1. ประวัติเป็นโรคของลำไส้บางชนิด ได้แก่ ติ่งเนื้องอกที่ผนังลำไส้ (Adenomatous Polyps) โรคแผลอักเสบของลำไส้เรื้อรัง (Chronic ulcerative colitis) นาน 10 ปีหรือมากกว่าจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ 5-10 เท่า
  2. กรรมพันธุ์ ยีน มีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ผู้หญิงที่มีประวัติโรคมะเร็งเต้านม รังไข่ หรือมดลูก จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งลำไส้มากขึ้น
  3. อาหารประเภทเนื้อสัตว์และไขมันสัตว์สูง อาหารที่มีแคลอรี่สูง กากใยน้อย อาหารปนเปื้อนสารพิษ หรือการสะสมแบคทีเรียในลำไส้ การคั่งค้างของของเสียจนเกิดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเป็นบริเวณที่สัมผัสกากอาหารที่มีสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน
  4. ปัจจัยอื่นๆ เช่น การดื่มแอลกกกอฮล์ การสูบบุหรี่มากและนานกว่า 35 ปี จะเพิ่มอัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ และเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยไม่ทราบสาเหตุ

อาการและอาการแสดง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็งที่เป็น

  1. ลำไส้ใหญ่ด้านขวา มักมีอาการอ่อนเพลีย ปวดท้องเป็นประจำ หรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร คลำได้ก้อนที่ท้องบริเวณด้านขวา ซีด น้ำหนักลด
  2. ลำไส้ด้านซ้าย มักมีอาการของลำไส้อุดตันหรือถ่ายผิดปกติ ท้องผูกสลับท้องเสีย ท้องอืด ไม่ผายลม ปวดท้องรุนแรงหรือถ่ายเป็นมูกปนเลือด
  3. ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย มีอาการปวดทวารหนัก ถ่ายเป็นเลือดสด รู้สึกถ่ายไม่สุด ปวดเบ่ง
  4. ช่องทวารหนัก คลำได้ก้อน ถ่ายเป็นเลือดสด ถ่ายแล้วปวดหรือมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต

การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค

  1. การซักประวัติ : ปัจจัยส่งเสริม อาการและอาการแสดง ประวัติการเป็นมะเร็งครอบครัว
  2. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจเลือดในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test : FOBT) การตรวจหาแอนดิเจนของเซลล์มะเร็ง (Carcino Embryonic Antigen : CEA)
  3. การตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination : DRE ) ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  4. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนตรงและลำไส้ใหญ่ส่วนโค้ง (Flexble Sigmoidoscopy) สามารถส่องกล้องดูลำไส้ได้ประมาณ 60 ซม. ไม่ตลอดความยาวของลำไส้ใหญ่ทั้งหมด
  5. การตรวจทางรังสี โดยการใช้สารแบเรียม (Double Contrast Barium) สามารถเห็นเนื้องอก แต่ไม่เห็นความผิดปกติในบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนตรงและส่วนล่าง
  6. การส่องกล้องตรวจภายในลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) สามารถตรวจดูได้ตลอดความยาวของ colon และเห็นก้อนมะเร็งที่อยู่ส่วนบนของลำไส้ใหญ่ชัดเจน ระหว่างส่องกล้องสามารถตัดชิ้นเนื้อเยื่อของลำไส้ใหญ่ตรวจหาเซลล์มะเร็ง

การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

  1. ลดอาหารที่ปริมาณไขมันสัตว์ให้น้อยลง (ต่ำกว่า 30% ของแคลอรี่ที่ควรได้ต่อวัน)
  2. เพิ่มปริมาณของเส้นใยอาหาร บริโภคธัญพืชที่ไม่ขัดสี ผักหลากสีและผลไม้หลากชนิดตามฤดูกาลเป็นประจำ เช่น ข้าวกล้อง กะหล่ำปลี ข้าวโพดอ่อน ขึ้เหล็ก ดอกแค ดอกกุยช่าย ขนุนอ่อน ถั่วฝักยาว ผักกระเฉด มะเขือเทศ มันฝรั่งพร้อมเปลือก กล้วย เงาะ ฝรั่ง ชมพู่ แอปเปิ้ล มะม่วง ส้มเขียวหวาน ละมุด เป็นต้น
  3. เพิ่มอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีจากแสงแดดอ่อนให้ได้แคลเซียมไม่น้อยกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ และยังลดความเสี่ยงของโรคกระดูกผุ ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง
  4. พักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และทำจิตใจให้แจ่มใส
  5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 15-30 นาทีต่อครั้ง ไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  6. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
  7. ขับถ่ายให้เป็นเวลา อย่ากลั้นอุจจาระไว้และควรรับการตรวจเมื่อมีอาการท้องผูกหรือท้องผูกสลับท้องเสียเป็นประจำ

กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระทุกปี และส่องกล้องดูลำไส้ใหญ่ทุก 5 ปี
  • ผู้ที่มีประวัติมีเนื้องอกที่ผนังลำไส้ใหญ่ หรือมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจดูลำไส้ทุก 1-2 ปี หรือตรวจเมื่ออายุน้อยกว่าญาติที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุก 5-10 ปี
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หลังจากผ่าตัดแล้ว ควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่หลังผ่าตัด 1 ปี ถ้าผลปกติให้ตรวจซ้ำทุก 3 ปี และทุก 5 ปี

การปฏิบัติตัวของผู้ที่มีช่องเปิดลำไส้หรือมีทวารใหม่

คำแนะนำของผู้ที่ทำผ่าตัดช่องเปิดลำไส้เอาอุจจาระออกทางหน้าท้อง

1. การทำความสะอาดช่องเปิดลำไส้

ทำความสะอาดช่องเปิดลำไส้และใช้อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้ที่มีช่องเปิดลำไส้หรือผู้มีทวารใหม่หรือออสโตเมทมีสุขอนามัยที่ดี ช่วยลดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ คลายความวิตกกังวล เกิดความมั่นใจมากขึ้น

2. การดูแลตนเองและการป้องกันอาการผิดปกติของช่องเปิดลำไส้ใหญ่

อาการผิดปกติข่องเปิดบำไส้และผิวหนังโดยรอบที่พบบ่อย ได้แก่

  • การมีเลือดออกจากช่องเปิดลำไส้ มักเกิดจากการเช็ดบริเวณช่องเปิดลำไส้แรงเกินไปหรือได้รับบาดเจ็บโดยไม่รู้ตัว
  • ผิวหนังเป็นรอยแดงเป็นผื่นหรือผิวหนังลอกเป็นแผลตื้นๆ มีอาการคันเกิดจากกการแพ้กาวของอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายหรือการลอกอุปกรณ์แรงเกินไป
  • ผิวหนังเป็นตุ่มอักเสบหรือตุ่มหนอง มักเกิดจากขนหลุด เนื่องจากการลอกอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายรุนแรงเกินไป หรืออาจเกิดร่วมกับมีการขังของสิ่งขับถ่าย

การดูแลป้องกัน

  • ทำความสะอาดผิวหนังด้วยสบู่อ่อนและน้ำสะอาดจนหมดคราบสกปรกและคราบสบู่
  • เลือกใช้ถุงรองรับสิ่งขับถ่ายชนิดที่มีแผ่นป้องกันผิวระคายเคือง
  • ไม่ใช้อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายที่มีขนาดวงของช่องเปิดใหญ่กว่าขนาดของช่องเปิดลำไส้ของตน
  • หมั่นสังเกตการขังของสิ่งขับถ่ายใต้อุปกรณ์รองรับ ถ้าพบควรถอดออกและทำความสะอาดพร้อมเปลี่ยนอุปกรณ์รองรับ
  • ขณะลอกอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายออกจากผิวหนัง ควรใช้มืออีกข้างหนึ่งกดผิวหนังใกล้เคียงไว้และค่อยๆ ลอกอุปกรณ์ออกช้าๆ
  • ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรมาพบแพทย์หรือพยาบาลที่มีความรู้เฉพาะทาง

การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันสำหรับออสโตแมท

  • อาบน้ำได้ตามปกติทั้งขณะใส่ถุงและถอดถุงออก โดยวิธีการตักอาบ ใช้ฝักบัว หรือลงอ่างอาบน้ำ
  • การแต่งกายเป็นไปตามปกติ สวมเสื้อผ้าที่หลวมเล็กน้อย หรือเสื้อผ้าที่มีจีบด้านหน้า การสอดถุงรองรับของเสียไว้ด้านในของกางเกงชั้นในจะช่วยให้เดินและเคลื่อนไหวสะดวกมากขึ้น
  • การรับประทานอาหารในระยะ 2 เดือนแรกหลังผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเส้นใยมาก เช่น ถั่วและผลไม้แห้ง หลังจากนั้นเริ่มรับประทานได้ทีละน้อยเคี้ยวให้ละเอียด ไม่มีข้อจำกัดใดเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร ยกเว้นอาหารประเภทที่อาจมีผลกระทบต่อการขับถ่าย

ประเภทอาหารที่มีผลต่อการขับถ่าย

อาหารที่มีเส้นใยสูง จะทำให้อุจจาระเป็นก้อนมากยิ่งขึ้น เช่น กล้วย ข้าว ขนมปัง มันฝรั่ง ถั่ว เนยแข็ง ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน เพื่อป้องกันท้องผูกและลำไส้อุดตัน

อาหารที่อาจทำให้ท้องเสีย ได้แก่ อาหารรสเผ็ดจัด ผลไม้ดิบ ถั่วสีเขียว บรอคโคลี่ ผักโขม น้ำผลไม้ เบียร์ ช็อกโกแลต เป็นต้น

อาหารที่ให้อุจจาระมีกลิ่นรุนแรง ได้แก่ อาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้ง ไข่ หน่อไม้ฝรั่ง หัวหอม กระเทียม เครื่องเทศ อาหารตระกูลถั่ว กะหล่ำปลี บรอคโคลี่ สะตอ ชะอม ลูกเหนียง เห็ดหอม ทุเรียน เป็นอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส ได้แก่ อาหารตระกูลถั่ว เห็ด เบียร์ น้ำอัดลม กะหล่ำปลี แตงกวา หัวหอม ผักโขม ข้าวโพด บรอคโคลี่ หัวผักกาดแดง กระหล่ำดอก ถั่วลิสงอบ ยีสต์และนม เป็นต้น

อาหารที่ช่วยลดแก๊สและกลิ่น ได้แก่ โยเกิร์ต

อาหารที่ช่วยระบายกากอาหาร ได้แก่ น้ำผลไม้คั้น น้ำลูกพรุน น้ำส้ม มะละกอสุก และควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว

การเดินทาง สามารถเดินทางไปที่ต่างๆ ได้ ควรเตรียมอุปกรณ์สำรองไป 2-3 ชุด ได้แก่ กระดาษชำระ น้ำสะอาด อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่าย และยาแก้ท้องเสีย

การเล่นกีฬา ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การวิ่ง หรือเดินเพื่อสุขภาพ และเล่นกีฬาได้ตามปกติแต่ไม่หักโหม หลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องมีการกระทบกระแทกบริเวณหน้าท้อง

การมีเพศสัมพันธ์ ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนถุงรองรับของเสียอันใหม่จะช่วยลดความรู้สึกไม่มั่นใจลง ผู้หญิงที่มีช่องเปิดลำไส้สามารถตั้งครรภ์ได้ เว้นแต่แพทย์แนะนำชะลอการมีบุตรไว้ก่อน

ขอขอบคุณข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

เอกสารประกอบการ

นิโรบล กมลสุนทรรัตน์ คำแนะนำการปฏิบัติตนสำหรับผู้มีทวารเทียมบริเวณหน้าท้องเพื่อขับถ่ายของเสีย ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ Pathophysiology Diangnosis and Medical Surgical Management of Gastrointestinal System เอกสารการอบรม หลักสูตรการพยาบาลออสโตมีรุ่นที่ 8 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 2542

วีรุณ บุญนุช โครงการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล 2545

วรชัย รัตนธราธร Colon Cancer ในตำราการรักษาโรคมะเร็ง วรชัย รัตนธราธร บรรณาธิการ กรุงเทพมหานคร : โฮลิสติก พับลิซชิ่ง 2538 : 96-125

วรนันท์ ศุภพิพัฒน์ บทบาทของอาหารต่อการส่งเสริมการเกิดโรคและการป้องกันโรคมะเร็งในอาหาร โภชนาการและสารเป็นพิษ พิมพ์ครั้งที่ 1 : แสงการพิมพ์ กรุงเทพมหานคร 2538 : 247-252

วุฒิ สุเมธโชติเมธา มะเร็งลำไส้ใหญ่ คืออะไร เอกสารการอบรม หลักสูตรการพยาบาลผู้ป่วยโรคมะเร็ง รุ่นที่ 6 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 2547

เสาวนิต สมรรคบุตร ภาวะแทรกซ้อนของช่องเปิดลำไส้ ผิวหนังโดยรอบและการพยาบาล เอกสารการอบรมหลักสูตรการพยาบาลออสมี รุ่นที่ 8 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 2542

สุพัตรา แสงรุจิ พบแพทย์ศิริราช มะเร็งลำไส้ใหญ่ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2545

Broadwell, D.C. and Jackson, Principle of Ostomy care.St.Louis : Mosby 1992.

Cancer Registry. National Cancer Institute, Department of Medical Services, Ministry of Public Health, 1999 : 26-27

Nakagaki DK. Hiromoto BM. Colorectal Cancer in oncology Nursing Secrets. Edited R.A. Gates & R.M. Fink Health & Betfus, INC./Philsdelpha. 1997 : 150-156.

Shelton BK. Introduction to Colorectal Cancer. Seminars in Oncology Nursing . 18 Z2.Suppl.2) 2002 :2-12