บทความที่น่าสนใจ

โรคข้อเข่าเสื่อม

orthopedic article 01 from missionโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ พบมากในวัยกลางคน และผู้สูงอายุซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสุขขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม โรคจะดำเนินไปเรื่อยๆ อาจทำให้มีความเจ็บปวด ข้อเข่าผิดรูป เดินได้ไม่ปกติ การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่างๆ ก็ทำได้ไม่สะดวก จะมีความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

หากประชาชน หรือผู้ที่เริ่มมีอาการข้อเข่าเสื่อมมีความรู้สามารถดูแลตนเองเพื่อชะลอความเสื่อม หรือบรรเทาอาการของข้อเข่าเสื่อม ก็จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

ข้อเข่าประกอบด้วย กระดูก 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกสะบ้า ยึดติดกันด้วยเส้นเอ็นซึ่งเป็นส่วนปลายของกล้ามเนื้อนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ข้อเข่าแข็งแรง ผิวสัมผัสของกระดูกอ่อนค่อนข้างหนาคลุมอยู่ กระดูกอ่อนนี้มีลักษณะเรียบ มันวาว และผิวลื่น ทั้งนี้เพื่อรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นขณะมีการเคลื่อนไหวข้อ และทำให้รูปร่างกระดูกพอดีกัน ช่วยให้ข้อมั่นคงภายในข้อเข่ามีน้ำหล่อเลี้ยงช่วยให้การหล่อลื่นและถ่ายน้ำหนัก

โรคข้อเข่าเสื่อม หมายถึง โรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่างโครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้นตามลำดับ

 

ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของข้อเสื่อม

  • กระดูกอ่อนผิวข้อนุ่มกว่าปกติ
  • สีเปลี่ยนจากใสเป็นสีเหลือง
  • มีการแตกของผิวข้อ
  • กระดูกผิวข้อเริ่มบางลง
  • ผิวไม่เรียบ ขรุขระ และลุ่ยออก
  • มีกระดูกงอกบริเวณขอบกระดูก
  • กระดูกใต้ผิวข้อหนา และแข็งขึ้น มีถุงน้ำเกิดขึ้นกระดูก
  • พิสัยการเคลื่อนไหวลดลง

สาเหตุความเสื่อมของข้อเข่า

  1. ความเสื่อมแบบปฐมภูมิ หรือไม่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัย
    ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเสื่อมของข้อเข่า ได้แก่
    • อายุ พบว่า อายุ 40 ปี เริ่มมีข้อเสื่อม อายุ 60 ปีเป็นข้อเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 40
    • เพศ ผู้หญิง พบมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย
    • น้ำหนักตัวที่เกิน น้ำหนักตัวมีความสัมพันธ์อย่างมากกับเข่าเสื่อม พบว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงกระทำต่อข้อเข่า 1-1.5 กิโลกร้ม ขณะเดียวกันเซลล์ไขมันที่มากเกินไปจะมีผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์กระดูก ส่งผลให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น
    • การใช้งาน ท่าทาง กิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก เช่น การนั่งคุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ เป็นต้น
    • ความบกพร่องของส่วนประกอบขอข้อ เช่น ข้อเข่าหลวมกล้ามเนื้อต้นข่าอ่อนแรง
    • กรรมพันธุ์ โรคข้อเข่าเสื่อมมีหลักฐานการถ่ายทอดทางพันธุกรรมน้อยกว่าที่ข้อนิ้วมือเสื่อม
  2. ความเสื่อมแบบทุติยภูมิ เป็นความเสื่อมที่ทราบสาเหตุ เช่น เคยประสบอุบัติเหตุมีการบาดเจ็บที่ข้อ เส้นเอ็น การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่าจากการทำงานหรือการเล่นกีฬา โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เก๊าท์ ข้ออักเสบติดเชื้อ โรคของต่อมรไร้ท่อ เช่น อ้วน เป็นต้น

อาการและอาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดขี้นอย่างช้าๆ มักพบบ่อยในผู้ท่าอายุเกิน 60 ปี พบมากในผู้หญิงและผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มักเป็นทั้ง 2 ข้าง พบว่า เมื่อข้อเข่าข้างหนึ่งเริ่มเสื่อมอีกใน 11 ปี ต่อมา
อาการในระยะแรก เริ่มปวดเข่าเวลามีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน ขึ้นลงบันได หรือนั่งพับเข่า อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพักการใช้ข้อ ร่วมกับมีอาการข้อฝืดขัดโดยเฉพาะเมื่อหยุดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เมื่อขยับข้อจะรู้สึกถึงการเสียดสีของกระดูกหรือมีเสียงดังในข้อ
เมื่อมีภาวะข้อเสื่อมรุนแรง อาการปวดรุนแรงมากขึ้น บางครั้งปวดเวลากลางคืน อาจคลำส่วนกระดูกงอกได้บริเวณด้านข้างข้อ เมื่อเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาเต็มที่จะมีอาการปวดหรือเสียวบริเวณกระดูกสะบ้า หากมีการอักเสบจะมีข้อบวมร้อน และตรวจพบน้ำในช่องข้อ ถ้ามีข้อเสื่อมมานานจะพบว่า เหยียดหรืองอข้อเข่าไม่ได้ค่อยสุด กล้ามเนื้อต้นขาลีบ ข้อเข่าโกง หลวม หรือบิดเบี้ยงผิดรูป ทำให้เดินและใช้ชีวิตประจำวันลำบาก และมีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับ

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. มีอาการปวดเข่า
  2. ภาพรังสีแสดงกระดูกงอก
  3. มีข้อสนับสนุน 1 ข้อ ดังต่อไปนี้
  • อายุเกิน 50 ปี
  • อาการฝืดแข็งในตอนเช้านานน้อยกว่า 30 นาที
  • มีเสียงกรอบแกรบขณะเคลื่อนไหวเข่า จากการเสียดสีของเยื่อบุภายในข้อ หรือเอ็นที่หนาตัวขึ้น ตลอดจนความขรุขระของกระดูกอ่อนที่บุปลายหัวกระดูก

ระยะของโรคข้อเข่าเสื่อม

ระยะที่ 1 ทำงานทุกอย่างได้ตามปกติ
ระยะที่ 2 ทำงานหนักไม่ได้
ระยะที่ 3 ทำกิจวัตรประจำวันบางอย่างไม่ได้
ระยะที่ 4 เดินไม่ไหว

เป้าหมายของการดูแล ชะลออาการ

  • ลดอาการปวด ลดการอักเสบของข้อ
  • ส่งเสริมให้ข้อสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ป้องกันข้อไม่ให้ถูกทำลายมากยิ่งขึ้น
  • สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข

การรักษา

  1. การรักษาโดยวิธีไม่ใช้ยา โดยการประคับประคองด้วยการลดแรงกดที่ข้อเข่า ร่วมกับการทำให้กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะค่อยๆ ซ่อมแซมส่วนของข้อที่เสื่อมได้ มีดังนี้
    • การได้รับคำแนะนำการใช้ข้ออย่างถูกต้องและพอเพียง และเมื่อปฏิบัติตัวเหมาะสม จะมีส่วนช่วยให้อาการปวดทุเลา ทำกิจวัตรประวันต่างๆ ได้ดีขึ้นถึงแม้จะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ก็ตาม
    • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อ
    • การควบคุมน้ำหนักตัว
    • การบริหารกล้ามเนื้อและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
    • การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยและวิธีอื่นๆ
  2. การใช้ยา
  3. การผ่าตัด

จะดูแลตนเองอย่างไรเพื่อถนอมข้อ เมื่อเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้อย่างไร

1. การปรับเปลี่ยนอิริยาบถและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมในชีวิตประจำวัน เพื่อมิให้ข้อเสื่อมมากขึ้นและยืดอายุการใช้งานของข้อให้ยาวนานที่สุด

  • การนั่ง ควรนั่งบนเก้าอี้ ควรมีที่รองแขนเพื่อช่วยในการผยุงตัวลุกขึ้นยืนได้สะดวก ไม่ควรนั่งพับเพียบนั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ หรือนั่งราบบนพื้น เพราะท่านั่งดังกล่าวจะทำให้ผิวข้อเข่าเสียดสีกันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสื่อมเร็วขึ้น
    • หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนิ่งๆ นานๆ เพราะการที่ข้อเข่าอยู่ในท่าเดียวนานๆ จะทำให้กระดูกอ่อนซึ่งโดยปกติจะมีเลือดไปเลี้ยงน้อยมากอยู่แล้ว จะยิ่งขาดสารอาหารและออกซิเจนมากขึ้น จึงควรเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ลุกขึ้นเดินไปมาอย่างน้อยทุก 1-2 ชั่วโมง หรือนั่งเหยียดขา เตะขาเบาๆ บริหารกล้ามเนื้อต้นขาร่วมด้วยเป็นพักๆ เป็นต้น
    • หลีกเลี่ยงการนั่งพื้นทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เลี้ยงเด็ก เตรียมอาหารทำการฝีมือ ทำงานบ้านต่างๆ เช่น
      • การซักผ้า หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ ซัก ควรซักทีละไม่มากชิ้น นั่งซักบนม้าเตี้ยๆ และเหยียดเข่า 2 ข้าง หรือนั่งเก้าอี้ หรือยืน หรือใช้เครื่องซักผ้า
      • การรีดผ้า หลีกเลี่ยงการนั่งพื้นรีดผ้า ควรใช้การนั่งเก้าอี้ หรือยืนรีด และมีม้าเตี้ย มารองพักขาข้างหนึ่งไว้เพื่อช่วยพักกล้ามเนื้อขาและหลัง
      • หลีกเลี่ยงการนั่งก้มถูพื้นบ้าน ทำความสะอาดห้องน้ำ ควรใช้ไม้มอ๊บถือพื้นแทน
      • ไปวัด ฟังเทศน์ นั่งสมาธิ สวดมนต์ที่บ้าน อาจหลีกเลี่ยงโดยนั่งเก้าอี้ หรือ ขอบบันไดแทน
  • การนอน ควรนอนบนเตียงสูงระดับเข่า ไม่ควรนอนราบกับพื้นเพราะระหว่างล้มตัวลงนอนหรือลุกขึ้นยืนจะต้องใช้แรงจากข้อเข่าเพื่อช่วยในการเปลี่ยนท่าทางอย่างมาก ควรพักอาศัยอยู่ชั้นล่าง และขึ้นลงบันไดให้น้อยเที่ยวที่สุด จับราวบันไดเมื่อขึ้นลง เนื่องจากขณะก้าวขึ้น หรือลงบันได ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักถึง 3-4 เท่า ขณะขึ้นบนได้ใช้เท้าข้างที่ไม่ปวดเข่าก้าวนำ และขณะลงบันไดใช้เท้าข้างที่ปวดเข่าก้าวนำ รวมทั้งเลี่ยงการเดินขึ้นลงที่ลาดชันซึ่งจะมีแรงที่ข้อมากกว่าการขึ้นลงบันได
  • การยืน ควรยืนตรงให้น้ำหนักตัวลงขาทั้งสองข้างเท่าๆ กัน
  • การเดิน ควรเดินบนพื้นราบ ควรใส่รองเท้าแบบมีส้นเตี้ยหรือไม่มีส้น พื้นนุ่ม กระชับพอเหมาะ จะช่วยลดแรกกระแทกต่อข้อได้ และถ้าไม่แน่ใจการทรงตัวควรใข้ไม้เท้า หลีกเลี่ยงการยกหรือของหนักๆ ควรช่วยกันถือ หรือใช้เครืองทุ่นแรงช่วย เช่น กระเป๋าที่มีล้อลาก รถเข็น
  • การใช้ห้องน้ำ ควรใช้ชักโครก หรือถ้าเป็นห้องส้วมซึม หรือส้วมนั่งยอง ควรใช้เก้าอี้นั่งมีรูตรงกลาง หรืออุปกรณ์ 3 ขา มาวางคร่อมบนส้วมซึมแทน บริเวณด้านข้างที่นั่งชักโครกควรทำราวจับเพื่อพยุงตัวขึ้นยืนได้สะดวก ในผู้ที่มีปัญหาเข่าอ่อน เข่าทรุด ควรมีราวเกาะในห้องน้ำและในบ้าน ป้องกันการหกล้ม

2. การควบคุมน้ำหนักตัว ควรอยู่ในเกณฑ์สมส่วน

ค่าดัชนีมวลกาย แปลผล
น้อยกว่า 18.5 ผอม
18.5 – 22.9   สมส่วน
23.0 – 24.9   น้ำหนักเกิน
25.0 – 29.9   อ้วน
มากกว่าหรือเท่ากับ 30 อ้วนรุนแรง

ตัวอย่างเกณฑ์น้ำหนักตัวเมื่อคำนวณตามดัชนีมวลกาย จำแนกตามความสูง

ส่วนสูง (เมตร) น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)
น้ำหนักปกติ น้ำหนักเกิน อ้วน
1.50 41.6-51.5 51.6-56 มากกว่า 56
1.55 44.4-55.0 55.1-59.8 มากกว่า 59.8
1.60 47.3-58.6 58.7-63.7 มากกว่า 63.7
1.65 50.4-62.3 62.4-67.8 มากกว่า 67.8
1.70 53.5-66.2 66.3-72.0 มากกว่า 72
1.75 56.7-70.1 70.2-76.3 มากกว่า 76.3

 

  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ควรลดน้ำหนักหรือควบคุมไม่ให้เพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวที่มาก จะเพิ่มแรงกดหรือกระแทกบนข้อต่อในอิริยาบถที่เคลื่อนไหว กล่าวคือ ขณะยืน หรือเดินข้อเข่าจะต้องรับน้ำหนัก 2-3 เท่าของน้ำหนักของน้ำหนักตัวผู้นั้น
  • การลดน้ำหนักไม่ใช่เรื่องงาย ต้องอาศัยกำลังใจวินัยในการควบคุมน้ำหนักตัวเอง ความเข้าใจในเรื่องโภชนาการ และการออกกำลังกายที่ถูกต้อง หากลดน้ำหนักได้แม้เพียงเล็กน้อย ก็ช่วยลดอาการปวดข้อได้
  • มีผู้ทำการศึกษาในผู้หญิงที่มีน้ำหน้กตัวเกินซึ่งมีอาการปวดเข่า เมื่อลดน้ำหนักลง 5 กิโลกรัม ทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเสื่อมได้ถึงร้อยละ 50

ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีของร่างกายและข้อ

  • รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลายให้พอิ่มทุกมื้อ
  • รับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ
  • รับประทานพืชผักให้มาก และผลไม้เป็นประจำ
  • รับประทานปลา เนื้อสัตว์ ไม่ติดมัน ไข่ เต้าหู้ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ
  • ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย
  • รับประทานอาหารที่มีไขมันแต่พอควร
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานจัด และเค็มจัด
  • รับประทานอาหารที่สะอาด ปราศจากการปนเบื้อน
  • งด หรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ดื่มน้ำมากๆ ประมาณ 8 แก้วต่อวัน กระดูกอ่อนตามข้อต่างๆ มีน้ำเป็นส่วนประกอบมากถึงร้อยละ 70 และมีหน้าที่สำคัญในการหล่อลื่นและรับแรงกระแทกกับข้อที่แข็งแรง

3. การบริหารกล้ามเนื้อและออกกำลังเพื่อสุขภาพ
การบริหารกล้ามเนื้อต้นขามีความสำคัญมาก หากกล้ามเนื้อมัดนี้ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อใหญ่มีความแข็งแรง ก็จะมีส่วนเสริมความมั่นคงให้กับข้อเข่าจะช่วยชะลอข้อเข่าเสื่อมได้โดยป้องกันแรงกดดันที่ข้อในขณะที่ใช้ข้อเข่าในการลุกขึ้นและยังป้องกันแรงกระแทกที่กระทำต่อข้อเข่าในขณะเดิน

วัตถุประสงค์ของการบริหารข้อ มีดังนี้

  • เพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ ขยับข้อนั้นๆ ให้สุดพิสัยในทุกทิศทางที่ข้อสามารถทำได้
  • เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เกร็งกล้ามเนื้อนานประมาณ 6 วินาที จึงคลายพัก และทำซ้ำความถี่ 20-30 ครั้ง / รอบ วันละ 2-3 รอบ หรือ 50-100 ครั้ง / วัน โดยเริ่มทำจาก น้อยๆ ตามความสามารถก่อน ค่อยเป็น ค่อยไป ไม่หักโหมเมื่อกล้ามเนื้อมีการปรับตัว จึงเพิ่มความถี่ให้มากขึ้นจนถึง 100 ครั้ง / วัน เมื่อบริหารได้ดี จะช่วย เพิ่มความทนทานในการใช้งานให้แก่กล้ามเนื้อนั้นๆ ด้วย

ท่าที่ 1 นอนหงาย ใช้หมอนใบย่อมขนาดหมอนข้างเด็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-5 นิ้ว หนุนใต้น่องใต้เข่า ให้เข่างอประมาณ 15 องศา กดเข่าลง พร้อมกระดูกข้อเท้าขึ้น เกร็งไว้ นับ 1-10 (ประมาณ 6 วินาที) หรือเท่าที่ทำได้ ทำ 10-20 ครั้ง สลับข้างซ้าย ขวา วันละ2-3 รอบ

ท่าที่ 2 นอนหงายชันเข่าข้างหนึ่งขึ้น ขาอีกข้างหนึ่งเหยียดตรง ค่อยๆ ยกขาข้างที่เหยียดให้สูงประมาณ 1 ฟุต เกร็งค้างไว้ นับ 1-10 แล้วค่อยๆ วางขาลง ทำ 10-20 ครั้ง สลับข้าง ซ้าย ขวา วันละ 2-3 รอบ

ท่าที่ 3 นั่งบนเก้าอี้โดยนั่งให้เต็มก้น งอเข่าทั้ง 2 ข้าง เท้าวางราบกับพื้น ค่อยๆ ยกขาข้างหนึ่งจนเข่าเหยียดตรง เกร็งค้างไว้ นับ 1-10 แล้ววางขากับพื้นเช่นเดิม สลับซายขวา ทำ 10-20 ครั้งวันละ 2-3 รอบ (กรณีที่บริหารแล้วปวดเข่ามากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีเข่าอักเสบหรือเสี่ยงมาก ให้งดท่านี้ไว้ก่อน แนะนำบริหารท่าที่ 4 แทน)

ส่วนผู้ที่บริหารท่านี้ได้ดี เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงดีขึ้นบ้าง อาจบริหารให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากยิ่งขี้นโดยไม่ต้องใช้เวลาบริหารนาน ด้วยการเพิ่มการถ่วงน้ำหนักที่ข้อเท้า เช่น ถุงทราย เริ่มจากน้ำหนัก 0.5 กิโลกรัม
ท่าที่ 4 นั่งเก้าอี้ พาดขาบนเก้าอี้อีกตัวทางด้านหน้า พยายามเหยียดเข่าให้ตรงหรือเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาค้างไว้ นับ 1-10 คลายทำ 10-20 ครั้ง ทำทีละขา ทั้ง 2 ข้างวันละ 2-3 รอบ

ท่าที่ 5 นั่ง งอเข่าทั้ง 2 ข้าง เท้าวางราบกับพื้อน ใช้ขาด้านตรงข้ามไขว้กดลงบนขาอีกข้างหนึ่ง ในขณะที่พยายามยกขาล่างให้เหยีดขึ้นเกร็งไว้ นับ 1-10 ทำสลับข้างกัน 10-20 ครั้ง

การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพข้อเข่า
โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายของแต่ละท่านรวมถึงความรุนแรงของข้อเข่าเสื่อม และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาจึงจะได้ประโยชน์ และไม่เกิดผลเสียจากการออกกำลังกาย ผู้ที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพหรือการออกกำลังกายเพื่อฝึกความทนทานหรือแอโรบิค ด้วยความรุนแรงระดับเบาถึงปานกลาง จะช่วยชะลอความเสี่ยงของร่างกาย ถ้าร่างกายมีการปรับตัว และฝึกฝนได้ดีก็สามารถเคลื่อนไหวออกกำลังด้วยความรุนแรงที่หนักขึ้น เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ ควรเลือกชนิดการออกกำลังกายให้เหมาะสม เช่น 

  • ผู้ที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถออกกำลังได้หรือเคยมีอาการเจ็บปวดขณะออกกำลังกาย ควรเริ่มบริหารร่างกายจากท่าง่ายๆ จากน้อยไปหามาก บริหารท่าที่ไม่ทำให้เกิดอาการปวด ถ้าไม่สามารถออกกำลังกายวิธีใดๆ ได้ให้ใช้วิธีเดิน และถือว่าการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง งานที่สามารถทำเองได้ก็ควรทำเอง เป็นต้น
  • การเดินเร็วในรายที่กล้ามเนื้อต้นขามีความแข็งแรงพอ แต่หากกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ควรเดินช้า ๆ หรือเดินเท่าที่ทำเป็น และเมื่อออกกำลังกายกล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงขึ้นถึงระดับที่สามารถกระชับเข่าได้ดีแล้ว จึงค่อยๆ เริ่มเดินให้เร็วขึ้นได้
  • การปั่นจักรยาน ที่มีความสูงของอาจนั่งให้สูงกว่าปกติเล็กน้อย หรือให้พอเหมาะ เพื่อลดการงอเข่าที่มากเกินไป หลีกเลี่ยง การถีบจักรยานที่ตั้งความฝืด ระดับความสูงไม่เหมาะสม จะเพิ่มความบาดเจ็บให้กับข้อเข่าได้ เพราะมีการเสียดสีกันของเข้าเข่า
  • การออกกำลังกายในน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม น้ำมีแรงพยุงตัวทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลง จึงเหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดเข่าและมีน้ำหนักตัวมาก แรงหนืดของน้ำ ทำให้ต้องออกแรงมากขึ้นซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ดี ส่วนอุณภูมิของน้ำที่พอเหมาะประมาณ 25 องศาเซลเซียส จะให้ความสดชื่นแก่ร่างกาย ส่วนอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับร่างกาย เช่น 35 องศาเซลเซียสจะช่วยลดปวด กล้ามเนื้อคลายตัวได้ดีในผู้ที่มีข้อตึง ยึด

ควรออกแรง หรือออกกำลังกายเป็นประจำ พอประมาณ รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่เกิน 30 นาทีต่อครั้ง ควรหยุดพักเป็นระยะหรือเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกาย เพื่อมิให้ข้อต่ออยู่ในท่าทางซ้ำๆ กันนานเกินไป ในผู้ที่มีปัญหาข้อเข่า ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องใช้การหมุนหรือการลงน้ำหนักในทิศทางต่างๆ มากๆ เช่น

  • การวิ่งจ๊อกกิ้ง เทนนิส แบดมินตัน เวลาที่วิ่งตัวลอย น้ำหนักจะกระแทกลงที่ข้อเข่า ทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อเสียดสีกันรุนแรง ส่งผลให้ผิวกระดูกอ่อนเสียหาย สึกบางลงได้
  • กระโดดเชือก หรือเต้นแอโรบิคบางท่าที่มีการกระโดดหรือบิดงอหัวเข่ามาก เพราะจะมีแรงกระทำต่อข้อเข่าสูงมากถึง 7-9 เท่าของน้ำหนักตัว
  • ออกกำลังกายแบบโยคะ พบว่า ทำให้ข้อเข่าหลวม กระดูกสันหลังหลวมจากการแอ่นอก กระดูกขบกันได้

การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยและวิธีอื่นๆ

ในรายที่ปวดมาก ควรพักข้อ ไม่เดินหรือเคลื่อนไหวข้อมากนัก

  • การใช้อุปกรณ์พยุงข้อ หรือสนับเข่า อาจเลือกใช้ในผู้ที่มีปัญหาข้อเสื่อมที่เป็นมากแล้ว ซึ่งความมั่นคงของข้อลดลง เนื่องจากกล้ามเนื้อรอบข้อลีบลง รวมถึงเอ็นรอบข้อก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วย อย่างไรก็ตามสนับเข่าอาจใส่พยุงข้อในระยะที่มีการเคลื่อนไหวหรือเดิน แต่หากใช้ต่อเนื่องยาวนาน กล้ามเนื้อโดยรอบข้อจะยิ่งลีบลงได้ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการบริหารกล้ามเนื้อโดยรอบข้ออย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องร่วมด้วย
  • ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน หากเดินได้ไม่สะดวก เช่น ไม้เท้าหรือร่วมที่มีความแข็งแรงโดยมีจุกยางอุดส่วนปลายร่มเพื่อกันลื่น จะช่วยในการพยุงตัวได้ดี ที่สำคัญช่วยลดแรงกดที่ข้อเข่าได้ถึงร้อยละ 25 โดยถือไม้เท้าด้านตรงข้ามกับเข่าที่ปวด หากปวดเข่าทั้ง 2 ข้าง ให้ถือข้างที่ถนัด
  • ประคบความเย็น หรือความร้อน เพื่อลดความปวด อักเสบ บวม ถ้าเข่าอักเสบ ร้อน แดง ช้ำ หรือ บวมใน 24 ชั่วโมง ควรใช้ความเย็นประคบ อาจใช้แผ่นเจลเย็น หรือน้ำแข็งใส่ถุงพลาสติก ห่อผ้าบางๆ ประคบบริเวณนั้นนาน 15-20 นาที ทำซ้ำ วันละ 2-3 ครั้ง ควรระวังหากรู้สึกแสบผิว หรือปวดมาก ให้หยุดประคบทันที ถ้าปวดเข่า เมื่อย ตึงยึด หลังใช้งาน ข้อเข่า หรือเข่าบวมเกินไป 24 ชั่วโมง ให้ประคบด้วยความร้อน เช่น ลูกประคบกระเป๋าน้ำร้อน ขวดใส่น้ำร้อนซึ่งเป็นความร้อนชื้นจะให้ผลในการคลายกล้ามได้ดีกว่า กระเป๋าไฟฟ้าซึ่งเป็นความร้อนแห้ง การใช้ความร้อนนี้จะช่วยควายกล้ามเนื้อลดอาการปวด อักเสบ และเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในเนื้อเยื่อ ควระวังเป็นพิเศษในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับความรู้สึก เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชาของปลายประสาท ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีผิวแห้ง ควรทาโลชั่นก่อนและหลังการประคบ เพื่อมิให้เกิดผื่นแดง หรือผิวหนังพองเนื่องจากความเย็นหรือความร้อน

ยาที่ใช้บรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อม

ใช้ยาตามแผนกการรักษาของแพทย์ หรือปรึกษาเภสัชกร ยาที่ใช้รักษา ได้แก่

  1. ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เป็นยาที่ควรเลือกใช้เป็นอันตรายในกรณีที่ปวดไม่มาก เพราะให้ประสิทธิผลดี และปลอดภัย รับประทาน 2 เม็ดวันละ 4 ครั้ง (4 กรัม / วัน) เพื่อให้ได้ระดับยาในการรักษา ซึ่งโอกาสเป็นพิษต่อตับน้อยมาก ถ้าไม่เป็นโรคตับหรือดื่มสุราจัด
  2. ยาทาเฉพาะที่ ประเภทยาแก้ปวด และต้านการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ และเจลพริก (Capsaicin) ใช้ทานวดซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความร้อนเฉพาะที่
  3. ยาต้านการอักเสบไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDS) ในรูปของยารับประทานและยาฉีด ซึ่งช่วยลดอาการปวดและอักเสบได้ดี ควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ที่ได้รับยาเสตียร์รอยด์ ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด หรือผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือมีปัญหา หอบหืด ตับ ไต หัวใจ และสังเกตผลข้างเคียงของยาที่พบได้ เช่น ไม่สบายท้อง ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระสีดำ ผื่นคันพิษต่อตับ ไต ยากลุ่มนี้อาจทำให้บวม และความดันโลหิตสูงขึ้น ข้อแนะนำไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน
  4. ยาคลายกล้ามเนื้อ การอักเสบทำให้กล้ามเนื้อโดยรอบเกร็งตึงได้ การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อจะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้
  5. ยาแก้ปวดที่เข้าด้วยอนุพันธ์ฝิ่น ใช้ในกรณีปวดรุนแรง หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งใช้ในยา กลุ่มอื่นไม่ได้ แต่ห้ามใช้ในผู้ที่มีปัญหาตับอักเสบ ยากลุ่มนื้มีผลข้างเคียงได้แก่ ท้องผูก ง่วงซึม เวียนศรีษะ ความดันโลหิตต่ำ ต้องระวังการหกล้ม
  6. ยาพยุงหรือลดความเสี่ยง เช่น Glucosamine sulfate , Diacerein , น้ำไขข้อเทียม (Hyaluronic acid) สามารถลดอาการปวด และอาจเปลี่ยนโครงสร้างกระดูกอ่อนข้อต่อ ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ช้า ราคาแพง ไม่ควรใช้ในผู้ที่ข้อเสื่อมรุนแรง
  7. ยาฉีดสเตรียรอยด์เข้าข้อ สามารถลดอาการปวดในช่วงสั้น 2-3 สัปดาห์ ไม่ควรฉีดประจำเนื่องจากจะทำลายกระดูกอ่อนข้อต่อไม่ได้ ใช้ในกรณีที่ปวดเฉียบพลันเท่านั้น แต่แนะนำให้หลีกเลี่ยง
DSC 1911 resize DSC 1914 resize DSC 1913 resize

 

การรักษาโดยการผ่าตัด

วิธีการผ่าตัดมีดังนี้

  1. การส่องกล้องข้อเข่า เพื่อตรวจสภาพและล้างภายในข้อ เป็นการรักษาที่น่าจะได้ผลดีในกลุ่มที่มีเศษขรุขระเล็กน้อย ที่เป็นสาเหตุของอาการปวดขัดในข้อ ใช้รักษาภาวะเข่าเสื่อมในระยะแรกเท่านั้น ในกรณีที่ข้อเสื่อมมากหรือรุนแรงแนะนำให้เปลี่ยนผิวข้อแทน
  2. การผ่าตัดปรับแนวข้อ ในกรณีที่มีการผิดรูปของข้อ โดยแก้ไขแนวแรงให้กระจายไปยังจุดที่ผิวข้อยังดีอยู่
  3. การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม เป็นวิธีการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมในระยะปานกลางถึงระยะรุนแรงเป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิธีสากลที่ใหผลการรักษาดีที่สุด นั่นคือ ทำให้หายปวดเข่า ข้อเข่ากลับมาเคลื่อนไหวได้ดีดังเดิม ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดพึงพอใจต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นภายหลังผ่าตัด สำหรับประเทศไทยมีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมานานเกือบ 40 ปีแล้ว 

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด มีดังนี้

  • มีภาวะข้อเข่าเสื่อมที่มีการสึกหรอและเสื่อมสภาพซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายรังสี
  • มีอาการปวด บวม ตึงข้อเข่า ซึ่งส่งผลต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
  • ได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล

ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม
เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะผิวของกระดูกทั้ง 3 ส่วนที่ประกอบกันเป็นข้อเข่า (กระดูกส่วนของต้นขา หน้าแข้ง และสะบ้า) โดยแพทย์จะตัดส่วนของผิวข้อที่สึกหรอหรืออักเสบออกไปซึ่งมีความหนาประมาณ 8-10 มิลลิเมตร แต่งกระดูกให้ได้มุมรับกับผิวข้อเทียม แล้วจึงใส่ข้อเทียมด้านกระดูกต้นขากระดูกหน้าแข้งซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ทำด้วยโลหะอย่างดี โดยมีพลาสติกชนิดพิเศษคั่นอยู่ระหว่างข้อเทียมที่เป็นโลหะ ส่วนข้อเทียมที่ใส่ด้านหลังของกระดูกสะบ้าทำด้วยพลาสติกเช่นกัน และใช้ซีเมนต์เพิเศษยึดระหว่างข้อเทียมกับกระดูกไว้ดังนั้น ข้อเทียมจึงมีความแข็งแรงและทนทานยาวนาน วิทยาการผ่าตัดข้อเทียมมีการวิวัฒนการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดและเครื่องมือ และการออกแบบข้อเข่าเทียมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองความตัองการของผู้ป่วยได้สูงสุด เช่น

  • การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดแผลเล็ก โดยแผลผ่าตัดจะมีความยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร จากวิธีหรือวิธีมาตรฐาน 15-20 เซนติเมตร แพทย์จะหลีกเลี่ยงการตัดกล้ามเนื้อเหนือลูกสะบ้า ทำให้สามารถลดอาการบอบช้ำจากการผ่าตัดได้มาก ลดการเสียเลือด และความเจ็บปวดจากการผ่าตัดน้อยลง จึงฟื้นฟูสภาพร่างกายได้ดีจากการงอ เหยียดเข่า ยืน เดินได้เร็ว อย่างไรก็ตามเทคนิคนี้ ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาเนื่องจากผู้ป่วยบางรายไม่สามารถใช้เทคนิคการผ่าตัดแผลเล็กได้ เช่น มีภาวะกระดูกบาง หรือมีน้ำหนักตัวมากๆ เป็นต้น
  • การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัด เสริมกับเทคนิคการผ่าตัดแผลเล็กบาดเจ็บน้อยโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือช่วยบอกตำแหน่งการจัดกระดูกและข้อขณะผ่าตัด
  • แบบของผิวข้อเทียม มีการพัฒนารูแบบและวัสดุอย่างต่อเนื่อง จากเดิมข้อเข่าเทียมสามามรถพับและงอได้เท่านั้น ปัจจุบันมีองศาของการงอเหยียดเคลื่อนไหวได้มากขึ้นเพื่อให้ใกล้เคียงกับการใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีหลายแบบเช่น แบบที่ทำให้เข่างอได้มาก แบบที่การหมุนตัวเหมือนกับข้อเข่าธรรมชาติมากขึ้น หรือแบบที่ถูกออกแบบเฉพาะเพื่อสรีระข้อเข่าผู้หญิง เป็นต้น ทั้งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์โดยพิจาณาจากความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย อายุมาก มีโรคประจำตัวหลายโรค เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไต หากจะผ่าตัด จะเสี่ยงมากไหม และจะป้องกันความเสี่ยงได้อย่างไร 

โรคข้อเข่าที่มาภาวะเสื่อมมากเกิดขึ้นในผู้สูงอายุเกือบทั้งหมด เมื่อรักษาโดยวิธีการอื่นๆ แล้วไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จนกระทั่งผู้ป่วยและครอบครัวตัดสินใจเลือกวิธีผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมซึ่งเป็นการผ่าตัดที่เลือกเวลา หรือรอได้ ดังนั้นก่อนผ่าตัดแพทย์จะซักประวัติ และตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียด สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวจะได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะสาขา จนกระทั่งอาการคงที่จึงจะได้รับการผ่าตัดได้ ตลอดจนปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ด้านผ่าตัดและระงับความเจ็บปวดขณะผ่าตัดมีความก้าวหน้ามาก ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยมากขึ้นกว่าในอดีตมาก มีการให้ยาแก้ปวดอย่างเพียงพอและเหมาะสมจึงไม่ต้องทนทรมานกับความปวดหลังผ่าตัดมากนัก ดังนั้นความเสี่ยงจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ หรือภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด จึงมีโอกาสน้อยมากเช่นเดียวกับการผ่าตัดใหญ่อื่นๆ
สำหรับภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมที่สำคัญพบได้น้อยมากประมาณ ร้อยละ 1-2 เช่น การติดเชื้อแผลผ่าตัด ข้อเทียมหลุดหลวมหรือหักข้อยึดติด การเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำหรือในปอด การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยและการมีส่วนร่วมของญาติในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้องเหมาะสมทั้งในการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยให้เคลื่อนไหวได้เร็ว ช่วยให้ข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

อายุการใช้งานของข้อมือเทียมยาวนานแค่ไหน

ส่วนใหญ่พบว่าข้อเทียมอยู่ได้ยาวนานชั่วอายุ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญ คือ การดูแลตนเองของผู้ป่วยและครอบครัวเพื่อถนอมข้อเทียม เช่น ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง การรักษาโรคประจำตัวที่มีอยู่ พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัว บริหารกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงกิจวัตรประจำวันที่มีแรงกดที่ข้อ

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเปลี่ยนผิวเข้อเข่าเทียมในด้านต่างๆ ดังนี้
1. ด้านร่างกาย

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกหมู่แต่พออิ่ม ดื่มน้ำ 6-8 แก้ว ต่อวัน และยังคงต้องควบคุมน้ำหนักตัว ให้เหมาะสม
  • บริหารกล้ามเนื้อทุกส่วนให้แข็งแรงโดยเฉพาะกล้ามเนื้อต้นขา ออกกำลังให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น เดิน เดินเร็ว ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน รวมถึงการบริหารปอดโดยการหายใจลึกๆ ยาวๆ บ่อยๆ
  • ระวังการติดเชื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่อาจไปสู่ข้อเทียม หากมีปัญหาควรพบแพทย์รักษาก่อนผ่าตัด เช่น แผลตามร่างกาย ปวดแสบขัดเวลปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดจากทางเดินปัสสาวะ อักเสบ รวมถึงสุขภาพในช่องปากควรทำฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ให้เรียบร้อยก่อนผ่าตัด
  • งดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
  • งดยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาแอสไพริน งดก่อนผ่าตัด 7 วัน หรือตามแผนการรักษา เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกมากขณะผ่าและหลังผ่าตัด

2. ด้านจิตใจ

  • ควรทำจิตใจให้ สงบ ผ่อนคลาย
  • หากมีเรื่องวิตกกังวล สงสัยเกี่ยวกับโรค การรักษา การดุแลตนเอง ค่าใช้จ่าย หรืออื่นๆ ควรซักถาม ปรึกษาแพทย์หรือพยาบาล

3. การเตรียมผู้ดูแลหลังผ่าตัด และเตรียมปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม

  • ควรเตรียมผู้ดูแลเพื่อช่วยเหลือในระยะหลังผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์หรือตามความเหมาะสม
  • ปรับสภาพแวดล้อม ให้เหมาะสม เช่น ควรนอนบนเตียงที่มีความสูงเสมอเข่า ห้องนอนควรอยู่ชั้นล่าง ดูแลบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ไม่มีของวางเกะกะ เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม ส้วมควรเป็นชักโครก เป็นต้น

ใช้เวลาในการรักษา และฟื้นฟูสุขภาพหลังผ่าตัดนานเท่าใด

  • โดยทั่วไปพักในโรงพยาบาลก่อนผ่าตัด 1 วัน
  • ใช้เวลาผ่าตัดประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ถึง 2 ชั่วโมง
  • ประมาณวันที่ 2 หลังผ่าตัด แพทย์จะเริ่มให้ยืน เดินโดยใช้ที่เกาะเดิน 4 ขา ค่อยๆ เดินลงน้ำหนักได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
  • นอนพักโรงพยาบาลประมาณ 3-5 วันภายหลังหลังผ่าตัด
  • นัดตรวจและตัดไหมประมาณ 2 สัปดาห์ หลังผ่าตัดในระยะนี้ผู้ป่วยยังอ่อนเพลีย เดินยังไม่สะดวก ญาติจึงควรดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการหกล้ม และช่วยเหลือกิจวัตรประจำวันต่างๆ

ผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแล้วใช้งานได้เหมือนเดิมหรือไม่

  • โดยทั่วไปภายหลังผ่าตัด 6 สัปดาห์ จะสามารถเดินได้โดยไม่ใช้ไม้เท้าช่วยพยุง เหยียดหรืองอข้อเข่าได้สุดหรือเกือบสุด
  • ประมาณ 2-6 เดือนข้อเทียมจะมีความแข็งแรงเสมือนเป็นข้อของผู้ป่วยเอง ทั้งนี้การฟื้นตัวของผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และปัจจัยหลายๆ อย่าง ในระยะนี้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้ ทั้งการนั่ง เดิน ขึ้น – ลงบันได สามารถงอเข่า ได้ ประมาณ 120-140 องศา ออกกำลังกายที่ไม่มีแรงกระแทกต่อเข่าได้ เช่น เดินเร็ว รำมวยจีน ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ตีกอล์ฟ ได้ ขับรถในกรณีที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ ถ้าใส่ข้อเทียมข้างซ้ายจะขับได้เร็วขึ้น

วิธีการถนอมข้อเข่าเทียม

ถึงแม้ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมแล้ว ก็ยังคงต้องดูแลตนเองเพื่อถนอมข้อเทียมให้ยาวนาน โดยการปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม ดังต่อไปนี้
1. อิริยาบถในชีวิตประวัน โดยหลักเลี่ยงอิริยาบถที่มีแรงกดที่ข้อ

  • นั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยองๆ นั่งเก้าอี้เตี้ย นั่งไขว่ห้าง ไขว้ขา การบิดหมุนเข่าไม่ว่ากรณีใดๆ
  • ขึ้นลงบันไดไม่จำเป็น
  • การยกหรือแบกของหนักๆ
  • การใช้หมอนรองใต้เข่าเป็นเวลานานๆ ขณะนอนเพราะจะทำให้การไหลเวียนเลือดที่พับเข่าเป็นไปได้ไม่สะดวก และข้อเข่าอาจตึงยึด

2. การจัดสิ่งแวดล้อม ภายในบ้าน

  • บริเวณบ้านควรจัดให้โล่ง สว่างไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางเดิน เพื่อกันกระดุดล้มลง
  • ถ้าจำเป็นต้องขึ้นลงบันได ควรมีราวจับทั้ง 2 ด้านของบันได ส้วมเป็นแบบชักโครก ภายในห้องน้ำควรใช้วัสดุกันลื่นมีราวจับ และจัดเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและสะดวกสบายขณะอาบน้ำ หลีกเลี่ยงการลงไปอาบในอ่างอาบน้ำ เพราะอาจลื่นล้มได้ง่าย

3. การควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้มีน้ำหนักมากเกินไป เพื่อข้อเข่าเทียมจะได้ไม่ต้องรอบรับน้ำหนักมาก ลดแรงกระแทนที่ข้อเทียม ควรรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เช่นรับประทานข้าวกล้อง ดื่มนมขาดมันเนยทานผักและผลไม้ที่มีกากใยและรสชาติไม่หวาน รับประทานเนื้อสัตว์ติดมันให้น้อยที่สุด เช่น ปลาซึ่งเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายเหมาะกับผู้สูงอายุ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็มจัด และหวานจัด เลือกรับประทานอาหานนึ่ง ตุ๋น อบ ย่าง แทนอาหารประเภทผัด ทอด และแกงกะทิ ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และงดดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์
4. การออกกำลังกายและเล่นกีฬา ควรออกกำลังกายและบริหารกล้ามเนื้อรอบข้ออย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบข้อแข็งแรง ควรหลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ต้องกระโดด เช่น วิ่ง เทนนิส เป็นต้น การออกกำลังกายที่แนะนำ ได้แก่ ว่ายน้ำ เดิน เต้นรำ รำมวยจีน
5. การเฝ้าระวังปัญหาแทรกซ้อนของการใส่ข้อเข่าเทียม ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการดังนี้คือ

  • ปวดบวมแดงร้อนบริเวณข้อเข่าเทียม ไข้สูง หนาวสั่น
  • ปวดน่องมากจนเดินไม่ได้ มีความรู้สึกว่าข้อเข่าหลวม หรือขาบิดผิดปกติ

การติดเชื้อที่แผลผ่าตัดหรือที่ข้อเทียมเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญพบได้น้อยกว่าร้อยละ1 เนื่องจากข้อเทียมยังถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกายพร้อมที่จะถูกกระตุ้นให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ

การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง

  • ไม่ควรปล่อยให้ฟันผุ
  • ไม่ควรกลั้นปัสสาวะนานๆ
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเคยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเมื่อไปทำฟันหรือไปตรวจรักษาโรคอื่นๆ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดจะไม่ลุกลามไปยังบริเวณข้อเทียม

แหล่งข้อมูล ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล