ในการออกกำลังกายนั้น หากออกกำลังกายไม่ถูกวิธี ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้เล่น หรือออกกำลังกายในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ ตั้งแต่เกิดจากบาดเจ็บเล็กน้อยถึงบาดเจ็บที่รุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่หากการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นความรุนแรงไม่มากนัก ประชาชนก็ควรที่จะสามารถดูแลตนเองได้ ดังนั้นการให้ความรู้ในการดูแลตนเองสำหรับประชาชนเมื่อเกิดการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นที่ประชาชนควรจะรู้ไว้

การดูแลตนเองเมื่อได้รับการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาจะได้ผลดีต้องกระทำอย่างถูกวิธีและถูกเวลา โดยขึ้นกับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ประสบการณ์ และอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งจากแพทย์ ผู้ฝึกสอน นักกายภาพบำบัด รวมทั้งตัวผู้เล่นเอง

การบาดเจ็บจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬา โดยทั่วไปมักเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ

  1. การกระแทกอย่างรวดเร็วและรุนแรง (contact and acute injury)
  2. การใช้งานอวัยวะมากเกินหรือซ้ำซาก (overused injury)

สำหรับการดูแลผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาเบื้องต้น จะดูแลในส่วนการบาดเจ็บที่เกิดทันทีในสนามเป็นส่วนใหญ่ ความรุนแรงของการบาดเจ็บสามารถแบ่งได้หลายระดับ ดังนี้

  1. การบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น การมีแผลถลอก ผิวหนังฉีกขาด มีอาการตะคริว และมีการยืดของเอ็นยึดข้อมากเกินไป (sprains)
  2. การบาดเจ็บรุนแรงปานกลาง เช่น เอ็นยึดข้อมีการฉีกขาดบางส่วน (sprain) ส่วนที่ได้รับบาดเจ็บบวม (swelling) และมีอาการปวด (pain) มีอาการบาดเจ็บเมื่อเคลื่อนไหวอวัยวะดังกล่าว รวมทั้งการเคลื่อนไหวทำได้น้อยลง (decrease range of motion)
  3. การบาดเจ็บรุนแรงมาก (severe injuries) เช่น มีกระดูกหักหรือข้อเคลื่อน มีการเสียรูปของอวัยวะและมีอาการปวดอย่างมาก
  4. การบาดเจ็บที่เป็นอันตรายต่อชีวิต (life threatening) เช่น มีการบาดเจ็บที่รุนแรงต่อบริเวณลำคอหรือศีรษะ มีอาการหมดสติ มีอาการแสดงความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ (heart attact)

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬานั้นมีความรุนแรงแตกต่างกันตามขนาดของกำลัง อัตราความเร็ว ความแข็ง ความอ่อน ความทื่อ หรือคมของสิ่งของที่มากระทบ ทำให้อวัยวะและเนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บซึ่งเป็นอันตรายต่อนักกีฬา อาจทำให้เสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที

การตัดสินใจว่าจะนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลหรือไม่นั้น จะต้องทำโดยเร็วที่สุด อย่าลองปฐมพยาบาลอยู่นาน เพราะอาจสายเกินแก้หรือมาช้าเกินไป

อุบัติเหตุจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬาที่ต้องนำส่งสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาล มีดังนี้

  1. หมดสติเพราะถูกกระแทก (ถึงแม้จะฟื้นคืนสติแล้วก็ตาม)
  2. กระดูกหักทุกชนิด
  3. ข้อเคลื่อน ข้อหลุด ทุกชนิด
  4. การตกเลือดจากอวัยวะภายใน (ทรวงอก ช่องท้อง เชิงกราน และบั้นเอว)
  5. บาดเจ็บที่ตา
  6. บาดแผลลึกที่มีเลือดออกมาก
  7. สิ่งแปลกปลอมเข้าทางทวารที่เอาออกไม่ได้
  8. บาดเจ็บที่ไม่ทราบสาเหตุแต่ผู้ป่วยมีอาการมาก

หลักสำคัญในการปฐมพยาบาลเมื่อได้รับบาดเจ็บ ควรปฏิบัติดังนี้

  1. อย่าตื่นเต้นหรือตกใจ พยายามตั้งสติให้มั่น เพื่อการติดสินใจที่ถูกต้อง แล้วจึงทำการพยาบาลตามลำดับความสำคัญก่อนหลังด้วยความรวดเร็ว พร้อมทั้งพูดจาปลอบโยนและให้กำลังใจแก่ผู้บาดเจ็บไปพร้อมกันด้วย
  2. รีบให้การปฐมพยาบาลต่อการบาดเจ็บที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตก่อนอื่นโดยเร็ว เช่น หัวใจหยุดเต้น การหายใจขัด การตกเลือด เป็นต้น
  3. ให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนอนราบและเอียงศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่ง ยกเว้นในกรณีที่มีหลักฐานหรือเกิดการบาดเจ็บบริเวณลำคอ ให้นอนศีรษะตรง โดยมีหมอนหรือวัสดุอื่นใดที่คล้ายๆ กันประกบศีรษะ เพื่อประคองให้ศีรษะอยู่ในท่าตรงตลอดเวลา
  4. ถ้ามีผู้บาดเจ็บหลายๆ รายพร้อมกัน ให้พิจารณาดูความสำคัญว่ารายใดควรได้รับการปฐมพยาบาลก่อน
  5. ทำการปฐมพยาบาลอย่างนุ่มนวลและรวดเร็วด้วยเครื่องมือ เครื่องใช้ที่สะอาด อย่านำเอาความสกปรกมาเพิ่ม
  6. ปลดเปลื้องเครื่องนุ่งห่มที่ทำให้การปฐมพยาบาลทำได้ไม่สะดวกหรืออาจรัดแน่นเกินไป แล้วใช้ผ้าคลุมหรือห่มแทนเพื่อความอบอุ่น
  7. อย่าให้น้ำ อาหาร หรือยาแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บที่ช่องท้องหรือหมดสติ เพราะอาจจะทำให้อาเจียน สำลัก ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงยิ่งขึ้น
  8. ไม่ควรให้ยาแก้ปวดแก่ผู้ที่ได้รับการกระทบกระเทือนที่สมอง เพราะจะทำให้บดบังอาการทางสมอง
  9. ก่อนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยต้องให้การปฐมพยาบาลเรียบร้อยก่อนทุกครั้ง
  10. การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยต้องทำให้ถูกต้องตามลักษณะการบาดเจ็บนั้นๆ เช่น อาจใช้การประคอง หาม อุ้ม หรือใช้เปล และควรติดตามดูแลในระหว่างทางจนกระทั่งถึงมือแพทย์

หลักการปฐมพยาบาลการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬา
เริ่มจากการตรวจร่างกายเพื่อประเมินลักษณะความรุนแรงของบาดแผลหรือการบาดเจ็บที่ได้รับ รวมทั้งซักถามอาการจากนักกีฬา เช่น มีบวมหรือกดเจ็บ มีอาการปวดขณะเคลื่อนหรือขยับส่วนนั้นๆ หรือไม่ หลังจากได้ข้อมูลการบาดเจ็บแล้วให้เริ่มทำการปฐมพยาบาลโดยปฏิบัติตามอักษรภาษาอังกฤษในคำว่า "RICE" โดยที่
R ใช้แทนคำว่า Rest
I ใช้แทนคำว่า Ice
C ใช้แทนคำว่า Compression
E ใช้แทนคำว่า Elevation

รายละเอียดของการปฏิบัติตามแนวทาง RICE มีดังนี้

  1. การพัก (Rest) การหยุดใช้งานส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บทันที นั่นคือให้หยุดการเล่นกีฬา โดยเฉพาะในช่วง 6 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญควรมีการได้พักการใช้งาน อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายต้องการเวลาพักประมาณ 48 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีการเริ่มเคลื่อนไหว (mobilization) อีกครั้ง
  2. การใช้ความเย็น (Ice) โดยการประคบเย็นซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการมีเลือดออกบริเวณเนื้อเยื่อ ลดบวม และอาการปวดได้ ระยะเวลาการประคบเย็นต้องกระทำให้เหมาะสมกับบริเวณที่ได้รับการบาดเจ็บ โดยทั่วไปการประคบเย็นให้ประคบนานครั้งละ 10 ถึง 20 นาที หยุดประคบ 5 นาที ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่บวม หรือทำวันละ 2 ถึง 3 ครั้ง วิธีที่นิยมใช้ในการประคบเย็น ได้แก่
    • การใช้เป็นถุงเย็น (ice pack) ซึ่งจะคงความเย็นได้ประมาณ 45-60 นาที และต้องมีผ้าห่อไว้ไม่ให้ถุงเย็นสัมผัสโดยตรงกับผิวหนัง
    • การใช้ถุงใส่น้ำแข็ง ผ้าชุบน้ำเย็น ในกรณีที่ไม่มีถุงเย็นหรือบริเวณของการบาดเจ็บกว้างเกินขนาดของถุงเย็น
    • การพ่นด้วยสเปรย์เย็น (cooling spray) อาจใช้ลดปวดเฉพาะที่ได้ชั่วคราว สามารถใช้ได้กับบริเวณที่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังไม่หนา เช่น คาง สันหมัด ข้อเท้า
  3. การพันผ้ายืด (Compression) เพื่อกดไม่ให้มีเลือดออกในเนื้อเยื่อมาก มักใช้ร่วมกับการประคบเย็น เพื่อให้ได้ประโยชน์จากทั้งสองด้านร่วมกัน การพันผ้ายืดควรพันให้กระชับส่วนที่บาดเจ็บ และควรใช้ผ้าสำลีผืนใหญ่รองไว้ให้หนาๆ โดยรอบก่อนพันด้วยผ้ายืด ควรพันผ้ายืดคลุมเหนือและใต้ต่อส่วนที่บาดเจ็บ
  4. การยก (Elevation) ส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้สะดวก เช่น การนอนวางขาหรือเท้าบนหมอน ในกรณีที่นั่งให้วางเท้าบนเก้าอี้ เป็นต้น ในกรณีบาดเจ็บรุนแรงควรยกสูงไว้ประมาณ 24-48 ชั่วโมง นอกจากนี้การยกส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บให้สูง ยังช่วยในการลดการกดของน้ำนอกเซลล์ที่หลั่งออกมาสู่เนื้อเยื่อบริเวณนั้นทำให้ลดการบวมลงได้

อย่างไรก็ตาม บางหลักปฏิบัติอาจเพิ่มการป้องกันการบาดเจ็บเพิ่ม (Protection) ด้วย ซึ่งอาจจะพบได้ในบางตำรา ทำให้หลักการปฏิบัติเพิ่มจาก "RICE" เป็น "PRICE" เช่น ในกรณีบาดเจ็บรุนแรงที่สงสัยว่ามีอันตรายต่อข้อต่อหรือกระดูกควรดาม (splint) ด้วยอุปกรณ์ที่แข็งและขนาดเหมาะสมกับอวัยวะที่ได้รับการบาดเจ็บซึ่งหาได้ในบริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อประคองอวัยวะและป้องกันไม่ให้มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อเพิ่มเติม

ข้อควรหลีกเลี่ยง
ควรหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนในรูปแบบต่างๆ ในระยะแรก (48 ชั่วโมง) ของการบาดเจ็บ เพราะจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว มีเลือดออกในบริเวณนั้นเพิ่มขึ้น นำไปสู่การบวมของเนื้อเยื่อโดยรอบ และจะมีอาการปวดมากขึ้น การหายจะช้าลง

ที่มา : "หนังสือข้อแนะนำการดูแลการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬา สำหรับประชาชน"
โดย ศาสตรจารย์คลินิก นายแพทย์ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
หนังสือชุดข้อแนะนำการออกกำลังกายสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย