เทคโนโลยีเพื่อการวินิจฉัยโรคทางตา

ปัจจุบันนี้วิทยาการต่างๆ ก้าวหน้าไปมากทำให้การตรวจวินิจฉัยโรคเป็นไปอย่างแม่นยำและสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ในทางจักษุวิทยาก็เช่นกัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในการช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่รอยโรคเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น จึงรักษาได้อย่างรวดเร็วทันท่วงทีและยังสามารถติดตามผลการรักษาโรคทางตาได้อย่างแม่นยำเป็นรูปธรรมมากขึ้น

มารู้จักเครื่องมือตรวจวินิจฉัยโรคทางตาที่สำคัญกันนะคะ

เครื่อง Optical Coherence Tomography หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า OCT นั่นเอง เครื่องOCT นี้เป็นเครื่องมือที่ใช้ถ่ายภาพประสาทตาในลักษณะภาพตัดขวางจึงช่วยให้แพทย์เห็นความหนาของชั้นจอประสาทตาและความผิดปกติที่เกิดขึ้นในชั้นจอประสาทตาได้ละเอียดและชัดเจน โดยภาพที่ได้จากเครื่อง OCT จะให้ความละเอียดในการวินิจฉัยได้ถึงระดับ 10-15 ไมครอน (1 ไมครอน คือ 1/100 มิลลิเมตรค่ะ) จึงมีประโยชน์มากในการวินิจฉัยและติดตามผลการรักษาโรคของจอประสาทตา เช่น ภาวะจอประสาทตาบวมจุดศูนย์กลาง จอประสาทตาเป็นรู การดึงรั้งที่จอประสาทตา ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตา และภาวะจุดศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ

เครื่องตรวจลานสายตาโดยคอมพิวเตอร์ (Computerized perimeter หรือ Automated field analyzer) เป็นเครื่องตรวจความกว้างของลานสายตา และใช้ช่วยวินิจฉัยความผิดปกติของลานสายตาที่เกิดจากโรคทางตา เช่น ต้อหินหรือประสาทตาอักเสบ เป็นต้น และยังช่วยในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นโรคทางสมองซึ่งกระทบกับระบบการมองเห็น เช่น เนื้องอกของต่อมใต้สมองที่โตไปกดขั้วประสาทตา หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต่างๆ

เครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา (Fundus Photography หรือ Fundus Camera) เป็นกล้องถ่ายภาพที่ให้ภาพถ่ายของจอประสาทตาเหมือนภาพที่แพทย์เห็นจริงในดวงตาของผู้ป่วย จึงช่วยในการวินิจฉัยและติดตามผลการรักษาได้ละเอียดแม่นยำ และยังช่วยในการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

เครื่องมือดังกล่าวข้างต้นเป็นอุปกรณ์เสริมช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งการตรวจตาปกติอาจจะยังไม่สามารถพบได้ เมื่อตรวจแล้วเครื่องจะรายงานผลเป็นรูปและแผนภูมิที่สามารถใช้เพื่อการเปรียบเทียบติดตามผลในระยะยาว ทั้งนี้ในบางกรณีบริษัทผู้ผลิตเครื่องยังจัดให้มีระบบประมวลผลข้อมูลและรายงานผลในลักษณะวิเคราะห์การดำเนินโรค เพื่อช่วยให้แพทย์ติดตามผู้ป่วยได้สะดวกและแม่นยำยิ่งขึ้น จึงเป็นประโยชน์มากในการดูแลผู้ป่วยโรคทางตา

อนึ่งการตรวจดังกล่าวนี้ยังเป็นการตรวจที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ไม่รบกวนการมองเห็นของผู้ป่วย ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือเจ็บปวดจากการตรวจแต่อย่างใด นับว่าเป็นวิวัฒนาการที่สำคัญก้าวหนึ่งในวงการจักษุวิทยา ฉบับหน้ายังมีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการรักษาโรคทางตาแล้วพบกันนะคะ

เทคโนโลยีเพื่อการรักษาโรคทางตา

เทคโนโลยีที่มากับเครื่องมือและเทคนิคการผ่าตัดยุคดิจิตอลนี้สามารถช่วยให้การรักษาโรคตาหลายๆ โรค (เช่น ต้อกระจก ต้อหิน และเบาหวานขึ้นจอประสาทตา เป็นต้น) เป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดระหว่างการรักษา และระยะพักฟื้นสั้น ผู้ป่วยจึงสามารถกลับไปปฏิบัติภารกิจได้ตามปกติภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน

การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์

เป็นเทคโนโลยีการรักษาต้อกระจกที่ทันสมัยและได้ผลดีมากโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงหรือคลื่นอัลตร้าซาวด์ไปสลายเลนส์แก้วตาที่ขุ่นแล้วดูดออกจนหมด เหลือเยื่อหุ้มเลนส์ด้านหลังไว้เป็นถุงสำหรับให้จักษุแพทย์สอดเลนส์แก้วตาเทียมเข้าแทนที่ การสลายต้อกระจกนี้สามารถทำได้โดยการหยอดยาชาเฉพาะบริเวณดวงตาเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องฉีดยาหรือให้ยาสลบ ผู้ป่วยจึงไม่รู้สึกเจ็บจากการฉีดยา และยังไม่มีความเสี่ยงจากการฉีดยาบริเวณตาหรือดมยาสลบอีกด้วย

แผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาโดยอัลตร้าซาวด์นี้จะมีขนาดเล็กมากเพียง 3 มิลลิเมตร จึงสมานตัวได้เป็นปกติอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล สามารถมองเห็นได้ชัดเจนอย่างรวดเร็ว และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

การรักษาโรคทางตาโดยใช้เลเซอร์

เลเซอร์เป็นเครื่องมือที่ใช้รักษาโรคตาได้หลายชนิด เช่น ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา โรคต้อหิน จอประสาทตาฉีกขาด ภาวะเยื่อหุ้มเลนส์แก้วตาขุ่นภายหลังการรักษาต้อกระจก เป็นต้น

ในการรักษาตาโดยเลเซอร์นั้นสามารถทำได้โดยการหยอดยาชาเฉพาะบริเวณดวงตา ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวด ไม่ต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาล และสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ เนื่องจากการรักษาด้วยเลเซอร์ไม่ก่อให้เกิดบาดแผลที่ดวงตาแต่อย่างใด

เลเซอร์ที่ใช้บ่อยในทางจักษุวิทยา ได้แก่

  1. แย็กเลเซอร์ (Yag Laser) ใช้รักษาภาวะเยื่อหุ้มเลนส์แก้วตาขุ่นภายหลังรักษาต้อกระจกและโรคต้อหินชนิดมุมปิด ชื่อ Yag Laser นี้ย่อมาจาก Yttrium-Aluminium Garnet Laser ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่น 1,064 นาโนเมตร ให้พลังงานเลเซอร์เป็นชุด (pulse) สามารถทำให้การรักษาโดยไม่ก่อให้เกิดความร้อนในเนื้อเยื่อ และไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด มีความแม่นยำสูงใช้เวลารักษาสั้นมาก
  2. อาร์กอนเลเซอร์ (Argon Laser) เป็นเลเซอร์ที่มีพลังงานสูง มีประสิทธิภาพดีในการรักษาอาการเบาหวานขึ้นจอประสาทตา โดยการลดการรั่วซึมของเลือดหรือน้ำเหลืองออกจากเส้นเลือดบริเวณจอประสาทตา และยังช่วยป้องกันการเกิดจอประสาทตาหลุดลอกในกรณีที่มีจอประสาทตาบางหรือฉีกขาดเป็นรู แพทย์สามารถทำการรักษาด้วยอาร์กอนเลเซอร์ได้โดยการให้ยาชาเฉพาะที่เพื่อลดอาการไม่สบายระหว่างการรักษา จัดเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีนั้นมีประโยชน์มากและทำให้การวินิจฉัยและรักษาโรคทางตามีความแม่นยำ ปลอดภัย รวดเร็ว และลดอาการระคายเคือง รวมทั้งความไม่สบายตาระหว่างการตรวจรักษา จึงช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี การตรวจรักษาโรคตาจึงไม่น่ากังวลอีกต่อไปแล้วค่ะ

 

โดย แพทย์หญิงยุพิน ลีละชัยกุล จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต้อหินและต้อกระจก โรงพยาบาลมิชชั่น